บ้านคนรักสุนทราภรณ์

สังคมของคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์


ขวัญใจเจ้าทุย

บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com
     คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
  เจ้าทุยอยู่ไหนได้ยินไหมใครมากู่กู่
เรียกหาเจ้าอยู่อยู่หนใดรีบมา
เจ้าทุยเพื่อนฉันออกมาหากันดีกว่ากว่า
อย่าเฉยเลยอย่าอย่ามะมาเร็วไว

เกิดมามีแต่ทุยเป็นเพื่อนกัน
ค่ำเช้าทำงานไม่ทิ้งกันไม่หายไป
ข้ามีข้าวและน้ำนำมาให้
อีกทั้งฟางกองใหญ่อย่าช้าไยอย่าช้าไย

เจ้าทุยเพื่อนจ๋าออกไปไถนาคงเหนื่อยอ่อน
เหนื่อยนักพักผ่อนก่อนหิวจนอ่อนใจ
ข้าจะอาบน้ำป้อนฟางทั้งคำกำใหญ่ใหญ่
จะสุมไฟกองใหม่ใหม่ไว้กันยุงมา

เจ้ามีคุณแก่เรามามากมาย
ถึงแม้เป็นควายเจ้าเหนือกว่าดีเสียกว่า
ผู้คนที่เกียจคร้านไม่เข้าท่า
ทุยเอ๋ยเจ้าดีกว่าช่วยไถนาได้ทุกวัน

เจ้าทุยนี่เอ๋ยข้าเคยเลี้ยงดูมาก่อน เก่า
เมื่อครั้งยังเยาว์เยาว์ทั้งทุยและฉัน
ข้าเคยขี่หลังนั่งไปไหนไปไม่หวาดหวั่น
สุขทุกข์เคยบุกบั่นรู้กันด้วยใจ

เติบโตมาด้วยกันในไร่นา
เคยหากินมาข้าเห็นใจข้าเห็นใจ
เจ้าทุยยากจะหาใครเทียมได้
ข้ารักดังดวงใจไม่รักใครข้ารักทุย
เนื้อเพลงในห้องบทเพลงได้รับความอนุเคราะห์จากสมาชิกที่รักในบทเพลงสุนทราภรณ์
ข้อมูลผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองล้วนได้มาจากการบอกกล่าว ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน หากท่านพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดแจ้งได้ที่ websuntaraporn@gmail.com หรือที่ นิมิตสววรค์
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com

© เอื้อเฟื้อโดย... นิมิตฯ
ผู้ขับร้อง : รวงทอง ทองลั่นธม
ลำนำเพลง คลิกที่นี่
เกร็ดเพลง


บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี 2501 โดย รวงทอง ทองลั่นธม
นิมิตฯ
© ครูใหญ่ นภายน เล่าว่า เพลงนี้เป็นเพลงในละครโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ครูใหญ่เล่นเป็นพ่อของคุณรวงทอง เดิมทีเมื่อเพลงนี้เสร็จสมบุรณ์ ครูเอื้อได้ฝากนักดนตรีให้เอาโน้ตมาให้ครูสริ ยงยุทธ ต่อให้คุณรวงทองร้องไปพลางๆ ก่อนละครฉายจริง แต่คุณรวงทองไม่ยอมร้องเพราะรู้ว่ามันแปลก ที่ต้องร้องเพลงรักควาย เมื่อครูเอื้อมาถึงแล้วทราบเรื่องคุณรวงทองก็เลยถูกเอ็ดเอา จึงจำต้องต่อเพลงนี้ทั้งน้ำตา แต่เมื่อการแสดงละครโทรทัศน์วันนั้นยุติลง ชื่อของรวงทอง ก็ดังเสียยิ่งกว่าพลุแตก เพลงขวัญใจเจ้าทุยนี้ขายดีมากเมื่ออัดลงแผ่นครั่งตราสุนทราภรณ์ หน้าสีชมพู ก็ขายดีมากกว่า 50,000 แผ่น รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล เคยนำไปขับร้องที่อเมริกา โดยแปลเนื้อเป็นภาษาอังกฤษ ปรากฎว่า ฝรั่งก็สนใจมากเหมือนกันครับ

พรานทะเล(หนุ่ม)
© เบื้องหลังความสำเร็จของบทเพลง "ขวัญใจเจ้าทุย"

ผมขอคัดข้อเขียน "การตีความในการบรรเลง" ของ ครูสมาน (ใหญ่) นภายน มาให้อ่าน ดังนี้

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีเพลงลูกทุ่งแล้ว หัวหน้าเอื้อคิดอยากทำละครเพลงแบบลูกทุ่งบ้าง จึงให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งเรื่องแบบชนบทขึ้น แล้วร่วมกันแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ชื่อ "ขวัญใจเจ้าทุย" (ครูใหญ่คงเข้าใจผิด ที่จริงผู้แต่งเพลงนี้ร่วมกับครูเอื้อ คือ คุณสมศักดิ์ เทพานนท์ - เทพกร อธิบาย) เพื่อให้รวงทอง ทองลั่นธม ร้อง ละครเพลงเรื่องนี้แสดงที่ทีวี ช่อง ๔ บางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙

พอถึงวันแสดง เวลา ๑๐ โมงเช้า วงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ไปถึง สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม พวกนักดนตรีก็แยกกันไปตั้งวงเพื่อรอซ้อม ในระหว่างนั้น พี่สริ ยงยุทธ มือเปียโนก็เรียกคุณรวงทอง ให้ไปซ้อมเพลงที่หัวหน้าเอื้อแต่งขึ้นใหม่ และฝากโน้ตเพลงให้พี่สริ ยงยุทธ มาต่อให้ร้อง พอพี่สริส่งเนื้อร้องให้คุณรวงทอง พอคุณรวงทองเห็นเนื้อร้องเท่านั้นก็ร้องไห้โฮใหญ่ และไม่ยอมต่อเพลงนี้

หัวหน้าเอื้อท่านไปถึง คุณรวงทอง ก็เดินร้องไห้เข้าไปหาหัวหน้า พร้อมกับพูดขึ้นว่า

"หัวหน้าคะ หนูไม่ร้องเพลงนี้ล่ะคะ" หัวหน้าถามว่า

"ทำไมไม่ร้อง" คุณรวงทองก็พูดต่อไปและสะอื้นไปด้วยว่า

"เพลงอะไร สัตว์ตัวเล็กๆ น้อยๆ มีตั้งเยอะที่น่ารัก น่าถนอม เช่น นก หนู กระรอก กระต่าย ชะนี มีสารพัด แต่กลับให้หนูไป 'รักควาย' หนูไม่ร้องล่ะคะ"

หัวหน้าเอื้อท่านโกรธมาก ถังกับพูดว่า ถ้าไม่ร้องเพลงนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องมาร้องเพลงร่วมวงอีกเลย

คุณรวงทอง จึงจำใจร้อง เมื่อโดนข้อเสนอแบบนี้ ต่อจากนั้น ก็ไปต่อเพลงนี้กับพี่สริ ร้องไปด้วย และก็ร้องไห้ไปด้วย เรียกว่า เสียงร้องคละน้ำตา

ครั้นถึงเวลาแสดง ประมาณสี่ทุ่มเห็นจะได้ ละครเพลงเรื่องนี้เริ่มเป็นฉากรุ่งอรุณ ดนตรีบรรเลงเพลงที่มีเนื้อร้องว่า แสงทอง ส่องนภาสว่าง ดูเหมือนจะเป็นทำนองเพลงไทย ที่ชื่อว่า อกทะเล หรืออะไรนี่ เอะ ชักจะจำไม่ได้แล้ว ในฉากนั้นมีผมซึ่งแสดงเป็นพ่อ นั่งอยู่บนแคร่ หน้ากระท่อม และก็พูดขึ้นว่า

"รวงเอ๊ย ไปดูเจ้าทุยมันหน่อยสิ เดี๋ยวพ่อจะเอามันไปนาด้วย" รวงทองก็พูดจากในฉากขึ้นว่า

"จ้ะพ่อ หนูจะไปจูงมันมาให้"

เมื่อรวงทองไปถึงเจ้าทุย (ควายจริงๆ นะครับ) ดนตรีก็บรรเลงเพลง ขวัญใจเจ้าทุย รวงทองก็ร้อง พอจบฉากนี้เท่านั้น เจ้าประคุณเอ๋ย เสียงโทรศัพท์เข้ามาแสดงความยินดีกับคุณรวงทองจนรับแทบไม่ไหว ตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งบัดนี้ คุณรวงทอง ยังยิ้มไม่หายด้วยความสำเร็จอย่างนึกไม่ถึง ก่อนร้องเพลงนี้ ร้องไห้แทบเป็นแทบตาย พอร้องเสร็จ ก็หัวเราะแทบเป็นแทบตายเหมือนกัน นี่แหละโลกแห่งความเป็นจริง แล้วนี่แหละคือความเป็นอัจฉริยะของหัวหน้าเอื้อที่สามารถจะบันดาลให้นักร้องคนใดก็ได้ ดังเป็นพลุ"

นี่แหละครับ คือเบื้องหน้า เบื้องหลังของเพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" เพลงยอดนิยม ที่ทำยอดขายแผ่นเสียงได้มากกว่า ๕,๐๐๐ แผ่น จนทำให้บริษัทแผ่นเสียงมอบรางวัลเป็นทองคำหนักถึง ๕ บาท ให้แก่ครูเอื้อในครั้งนั้น

เพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" นี้ บันทึกแผ่นเสียงกับห้างแผ่นเสียงกมลสุโกศล โดยใช้ตราสุนทราภรณ์หน้าสีชมพูครับ
เทพกร บวรศิลป์
© ในยุคดาวรุ่ง หลังจากที่ รวงทอง ทองลั่นธม ออกจากวงไปแล้ว คุณสุวณีย์ เนื่องนิยม เป็นผู้ขับร้องต่อมา
วรวิทย์
© คัดลอกข้อความบางตอนมาจาก เจ้าของบทเพลง “หวงรัก” ที่ลือลั่นสะท้านเมือง โดย ครูใหญ่ นภายน จากหนังสือ ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน ปีที่ ๓๖ เล่มที่ ๒๒ ปักษ์หลัง กรกฎาคม ๒๕๕๐

เมื่อพูดถึงเพลงขวัญใจเจ้าทุยแล้ว ผมมีเกร็ดบ้างเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเพลงนี้ ครั้งหนึ่งที่วงดนตรีสุนทราภรณ์หรือว่าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์นั่นแหละ จะต้องไปออกรายการที่ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อส่งแต่เพลงล้วนๆก็กลัวท่านผู้ชมทางบ้านจะเบื่อ จึงได้จัดให้เป็นการแสดงละครเพลงบ้าง ผู้ที่เขียนบทให้ก็มี คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์, พี่ชอุ่ม ปัญจพรรค์, ธาตรี (วิชัย โกกิลกนิษฐ์), เล็ก โตปาน, สมศักดิ์ เทพานนท์ เมื่อถึงวันที่จะไปออกอากาศ พวกเรานักดนตรีทั้งหลายจะต้องขนเครื่องไปถึงสถานีประมาณ ๑๐ โมงเช้า เพื่อจะได้ดูที่ทางตั้งวงดนตรี ส่วนนักร้องทั้งหลายก็จะต้องไปต่อเพลงกับ ครูสริ ยงยุทธ ผู้ที่ได้ร้องเพลงใหม่ในจำนวนนี้ก็มี รวงทอง ทองลั่นทม (ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็น “ทองลั่นธม”) จะร้องเพลงสำคัญในเรื่องคือเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” ความจริงคุณรวงทองไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อนว่าจะต้องร้องเพลง เมื่อมาถึงสถานี ครูสริก็เรียกให้คุณรวงทองมาต่อเพลงเพราะว่าเป็นเพลงใหม่ พอครูสริยื่นเนื้อร้องที่รับมาจากหัวหน้าเอื้อส่งให้ คุณรวงทองก็โวยวายใหญ่พร้อมกับบ่นว่า จะให้เล่นกับสัตว์เลี้ยง มันก็น่าจะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น นกแก้ว, นกขุนทอง, กระรอก, กระแต หรือว่าตัวใหญ่หน่อยก็เป็นชะนี แต่นี่จะให้ไปเล่นกับควาย พร้อมพูดกับครูสริว่า “หนูไม่ร้อง” แล้วร้องไห้และไม่ยอมต่อเพลง ครู่เดียวหัวหน้าเอื้อก็มาถึงสถานี ได้รับคำบอกเล่าจากครูสริว่ารวงทองไม่ยอมร้อง เท่านั้นแหละ…หัวหน้าโกรธมาก ถึงกับพูดกับคุณรวงทองว่า ถ้าไม่ยอมร้องเพลงนี้ ก็ไม่ต้องมาร้องร่วมวงกัน คุณรวงทองจึงยอมมาต่อเพลงกับครูสริ ร้องไปด้วยน้ำตาหยดไปด้วย จนกระทั่งจบเพลง จากนั้นก็เลิกซ้อม

ครั้นเวลา ๒ ทุ่มก็มาซ้อมเพลงกับครูสริอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ครั้นได้เวลาการแสดง ทุกคนเตรียมตัวเข้าฉากตามที่นัดแนะกันไว้ วงดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงไตเติ้ลจบลง แล้วกล้องก็จับภาพไปที่กระท่อมปลายนา มีชายชรานั่งอยู่บนแคร่กำลังสูบบุหรี่ใบจาก ตอนนี้วงดนตรีขึ้นอินโทรดักชั่นของเพลงแบ็คกราวนด์ คือเพลงไทยเดิม กล้องตัดภาพไปเป็นพระอาทิตย์กำลังทอแสง ก็มีเสียงร้องเพลงดังขึ้น

(เดี่ยว) แสงทอง…ส่องนภา…กระจ่าง
(หมู่) พร่างพรายกระจ่างฟ้า…

เมื่อเพลงจบท่อนนี้ ดนตรีก็เปลี่ยนเป็นจังหวะรำวง

(หมู่) โน่นตะวัน ส่องมาสดใส
ช้าทำไม…รีบไปดีกว่า
พวกเราชาววัฒนา
มาเถิดมา…จงอย่าไถล…

(ตอนนี้กล้องตัดภาพเห็นชาวนากำลังเดินแกจอบแบกเสียมเป็นแถวตามคันนา เพลงนี้มีชื่อว่า “ชาวนาวัฒนา” แต่งทำนองโดยครูเวส สุนทรจามร คำร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล เมื่อเพลงจบ กล้องเฟดอินไปที่กระท่อม และดอลลี่เห็นชายชรานั่งอยู่ที่เดิม)

(ชายชราพูด) รวงเอ๋ย…เอ็งไปจูงไอ้ทุยออกมาแทนพ่อที
(เสียงเด็กสาว) จ๊ะ…พ่อ…หนูจะไปจูงมันออกไปนาเดี๋ยวนี้ล่ะจ้ะ

เมื่อรวงทองพูดจบ กล้องตัดภาพไปที่รวงทองกำลังยืนอยู่ข้างเจ้าทุย ดนตรีขึ้นอินโทรดักชั่นเพลง ขวัญใจเจ้าทุย รวงทองก็ร้อง
เจ้าทุยอยู่ไหน ได้ยินไหมใครมากู่กู่ เรียกหาเจ้าอยู่อยู่ หนใดรีบมา
เจ้าทุยเพื่อนฉัน ออกมาหากันดีกว่า อย่าเฉยเลยอย่าอย่า มะมาไวๆ
เกิดมามีแต่ทุยเป็นเพื่อนกัน ค่ำเช้าทำงาน ไม่ทิ้งกัน ไม่หายไป
ข้ามีข้าวและน้ำนำมาให้ อีกทั้งฟางกองใหญ่ อย่าช้าใย อย่าช้าใย (ฯลฯ)

พอกล้องเฟดอินจบเรื่องเท่านั้นแหละ เจ้าประคุณเอ๋ย…สายโทรศัพท์ของทีวีช่อง ๔ เกือบไหม้จนฟังไม่รู้ว่าใครเป็นใครชมเชยรายการแสดงละครเรื่องนี้ของคุณรวงทองกับเพลงขวัญใจเจ้าทุย ทำให้ทุกคนหน้าบานไปตามๆกัน รวงทองถึงกับเดินไปกราบหัวหน้าเอื้อที่แต่งเพลงนี้ให้ร้อง ครั้งนี้แหละ…ที่ทำให้คุณรวงทองดังเป็นพลุแตก ต่อมา คำว่า “เจ้าทุย” ก็ขายดี ไม่ว่าเพลงไหนๆที่แต่งออกมาใหม่ในตอนนั้น จะต้องมีคำว่า “เจ้าทุย” เป็นหลัก ทั้งๆที่เจ้าทุยมันไม่รู้เรื่องเลยที่เอาชื่อของมันมาหากันจนร่ำรวย ในคืนนั้น…มันก็ยืนกินฟางที่เขากองไว้เป็นฉากหลัง นี่ถ้ามันรู้ว่าเอามันมายืนทรมาน มันคงไม่ยอมมาเข้าฉากเป็นแน่แท้ ขอบใจเจ้าทุย…
บุหรงทอง
© เพลงนี้คุณพ่อเคยเปิดให้ฟังแต่เด็ก
ตอนเด็กก็สงสัยว่า
"คนรักกับทุยหรอ??"
พอโตมาก็ เริ่มเข้าใจ
และชอบเพลงนี้มากขึ้น
น้ำป่า
© อยากฟังเพลงขวัญใจชาวเหนือ ของสุนทราภรณ์
กิม
© เพลงเพราะมากมาก
ธนวรรณ
© เคยไปร้องที่คาราโอเกะ(ห้องรวม) ผลัดกันร้องกับภรรยาคนละท่อน..เสียงปรบมือ ตรึมเลย....
ป้อมพระจุล
© เพลงขวัญใจเจ้าทุย ดังสุดขีด เพลงขวัญใจเจ้าทุยนี้ขายดีมาก ๆ มากกว่า 50,000 แผ่น และที่ทำยอดขายเกิน 5,000 แผ่น อยากให้คุณรุ่งฤดีร้องเพลงขวัญใจเจ้าทุยจังเลยค่ะ
นุ่น ราชบุรี
© เมื่อฟังโดยละเอียดแล้วพบว่าวรรครองสุดท้ายต้องร้องว่า เพื่อนทุยยาก"จัก"หาใครเทียมได้(จะ เป็น จัก)ค่ะ
คนสมุทรสงคราม
© เจ้าทุยที่รัก
อภิกัลยา คณานุรักษ์
© เพลงนี้ส่งผลให้คุณรวงทองได้ร้องเพลงที่มีคำว่า"ทุย"หลายเพลงต่อมา
ศุภวัทน์ แพ่งอ่ำ
© เดิมทีใช้ชื่อว่า"ขวัญใจอ้ายทุย" แต่มีคนบอกว่าชื่อหยาบไปเลยเปลี่ยนเป็น"ขวัญใจเจ้าทุย"
ศุภวัทน์ แพ่งอ่ำ

เชิญส่งเกร็ดเกี่ยวกับเพลงขวัญใจเจ้าทุย