บ้านคนรักสุนทราภรณ์
สังคมของคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์
ศึกในอก
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com
คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส |
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน |
เมื่อยามรักเลือนไกลสุดใคร่หาใดแทน ศึกอื่นหมื่นแสนหรือจักแม้นศึกหัวใจ ความกลัดกลุ้มรุ่มร้อน จักกินหรือนอนร้องไห้ ร้อนแทบจักขาดใจ สุดเปรียบอันใด กลั้นไว้เต็มทน ไม่มีสัมพันธ์ใด เปรียบได้น้ำใจคน ทะเลนั้นลึกล้น ก็ไม่พ้นหยั่งได้ แต่ใจของนวลนาง ไม่รู้จะหยั่งอย่างไร เปรียบเทียบน้ำใจใคร สุดเปรียบฉันใด วานบอกให้ชื่นชวน คร่ำครวญเพราะนวลนาง จืดจางเพราะนางครวญ ยิ่งครวญยิ่งใจหวน ยิ่งล้วนชวนให้ตรม ยามเมื่อจันทร์แจ่มฟ้า ยิ่งพาน้ำตาพร่างพรม ฟ้ามีจันทร์ให้ชม แต่เราต้องตรมคู่สมเลือนมา เฝ้าห่วงรักลวงเลือน เด่นเดือนนั้นเตือนตา จะคอยอยู่ชั่วฟ้า เฝ้าใฝ่หาคู่ชื่น ได้แต่หวนอาลัย รักก็ไม่เยือนคืน โศกจนเหลือทนกลืน ทุกค่ำทุกคืนคอยคู่ชื่นคืนมา |
ข้อมูลผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองล้วนได้มาจากการบอกกล่าว ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน หากท่านพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดแจ้งได้ที่ websuntaraporn@gmail.com หรือที่ นิมิตสววรค์
© เพลงที่ครูเอื้อไม่อยากร้อง (บทความ)
**จากผู้จัดการออนไลน์
เพื่อให้เข้ากับเทศกาลวันแห่งความรักที่จะมาถึงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ใคร่ขอนำเรื่องราวความรักของครูเอื้อ สุนทรสนานมาเล่าสู่กันฟัง อันที่จริงแล้วเพลงที่ "สุนทราภรณ์" หรือครูเอื้อร้องนั้นมีมากมายเหลือเกิน จนจำกันไม่หมด ทั้งเพลงช้า ทั้งเพลงเร็ว ทั้งในแง่ของการชมสาวงาม ความรักที่สมหวัง รวมทั้งเพลงที่เป็นความรักที่ผิดหวัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเพลงที่ครูเอื้อ ไม่อยากจะร้องด้วยเช่นกัน...
เรื่องมันก็มีอยู่ว่า..
ตอนที่ครูเอื้อ สุนทรสนานไปจีบสาวน้อยที่ชื่อ อาภรณ์ กรรณสูตนั้น ครูเอื้อกำลังอยู่ในวัยหนุ่มและใช้ชีวิตเต้นกินรำกินอย่างสนุกสนาน โดยเล่นดนตรีหารายได้พิเศษตามสถานที่ต่างๆ กับครูนารถ ถาวรบุตรและพรรคพวก เข้าทำนอง "กินข้าวร้อน นอนตื่นสาย" ที่เป็นอาชีพหลักของนักดนตรีในสมัยนั้น เมื่อมาติดตาต้องใจสาวน้อยที่เป็นธิดาสุดสวาทของพระยาสาครบุรีและคุณนายสะอิ้ง เพราะเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนรัก สังข์ อสัตย์ถวาสี ที่แถวถนนราชดำเนินในสมัยนั้น ไม่ใช่เป็นหนทางที่ราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด เพราะเคยถูกผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเรียกเข้าไปซักไซ้ไล่เรียงและสบปรามาสอย่างซึ่งๆ หน้า ในเรื่องนี้ "ไก่อ่อน" ของเดลินิวส์เล่าไว้ว่า
"...ชายหนุ่มเคยถูกเรียกเข้าไปปรามอารมณ์รักด้วยขณะนั้นฝ่ายหญิงยังเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง ผู้ใหญ่ไม่เชื่อว่าว่าความรักนั้นไม่จำกัดวัย แต่เชื่อความเป็นเด็กดีของเธออาจจะทำให้เธอตัดสินใจผิดพลาด
...เขาเคยถูกผู้ใหญ่เรียกเข้าไปพบและเคยถูกถาม "เธอทำงานที่ไหน?" เขาถูกถามอย่างไม่คาดคิดมาก่อน "เป็นนักดนตรีอยู่กรมศิลปากรครับ" เขาตอบ และเม้มคำว่า "นักดนตรี" ไว้แผ่วเบา ด้วยรู้สึกกระดากอายและเขินบ้างเล็กน้อย
"ไหน?" ญาติผู้ใหญ่ตะแคงหูด้วยไม่เชื่อว่าจะได้ยินเช่นนั้น
"เป็นอธิบดีหรือ?"
"เปล่าครับ" เขารีบแก้ไข และบัดนี้เลือดเนื้อแห่งความเป็นศิลปินทำให้เขาหยิ่งและภาคภูมิใจ ที่เขาพูดตอบกลับไปในทันทีนั้น
"ผมเป็นนักดนตรีครับ" เขาย้ำคำว่า "นักดนตรี" อย่างภาคภูมิ
"อุ้ย ตาย...!" ญาติผู้ใหญ่อุทาน
"เป็นอธิบดีฉันยังไม่ให้คุณเลย"...
แต่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ไม่ได้ย่อท้อ กลับมุมานะทำงานอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย เพื่อจุดหมายปลายทางที่หวังตั้งใจไว้ข้างหน้า โดยเฉพาะการเอาชนะใจคุณนายสะอิ้ง ผู้เป็นมารดาของสาวที่ตนรักและใฝ่ฝัน ด้วยการเสนอตัวเข้าไปรับใช้ใกล้ชิดดังที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าว่า
"...ตอนนั้นครูเอื้อเป็นหนุ่มโสดคุมวงดนตรีให้คณะละครแม่เลื่อน มาเช่าบ้านเล็กๆ สองชั้นอยู่ชิดรั้วสังกะสีหลังบ้านของคุณป้า คุณเอื้อให้ตั๋วฟรีคุณป้าและผม ดูละครแม่เลื่อนไม่ว่าวิกไหนและคุณเอื้อ ก็ผูกปิ่นโตกินที่บ้านป้าผม หนักๆ เข้าป้าก็เลยให้มากินเสียด้วยกันที่โต๊ะกินข้าวในบ้าน..."
ที่สำคัญก็คือ "ไก่อ่อน" เล่าว่า
"...เขามีพลังความรักมากมายเหลือเกิน เขายอมให้อดมื้อกินมื้อ เพื่อเอาเงินรายได้ของเขาไปมอบให้คุณแม่ของเธอ เป็นผู้เก็บหอมรอมริบ..."
ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นญาติสนิทและคุ้นเคยกับอาภรณ์ กรรณสูตมาก เล่าถึงอุปสรรคในเรื่องความรักไว้ว่า
"...อารักขนาดยอมทำทุกอย่างที่มีเพื่อหนู (ชื่อเล่นของอาภรณ์ กรรณสูตร) เพื่อขอให้ได้รักหนู และเพื่อจะแต่งงานกับหนูน่ะ วันหนึ่งอากลับมาจากทำงาน ถึงบ้านไม่เห็นหนู พอรู้ว่าไปตีแบดมินตันกับเพื่อนของพี่ใหญ่ ที่เพิ่งกลับมาจากนอก อายังเอาหัวชนฝาแทบหัวแตก จนคุณป้าต้องรีบไปตามตัวหนูกลับบ้าน..."
เอาละ...คงต้องเฉลยกันเสียทีว่าเพลงที่ครูเอื้อไม่อยากจะร้องนั้นคือเพลงอะไร?
เพลงนั้นก็คือ "ศึกในอก" ซึ่งเป็นเพลงที่กินใจและเป็นเพลงที่ครูเอื้อร้องเมื่อตกอยู่ในห้วงของความรักนั่นเอง
วิสามัญ
เชิญส่งเกร็ดเกี่ยวกับเพลงศึกในอก