บ้านคนรักสุนทราภรณ์

สังคมของคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์


วังบัวบาน

บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com
     คำร้อง สนิท ศ.
ทำนอง อรุณ หงสวีณะ     
  ร้อนลมหน้าแล้ง ใบไม้แห้งร่วงลอย
หล่นทะยอยเกลื่อนตา
ไหลตามกระแสน้ำพา
ลอยมาทั้งกลีบดอกไม้

จากหุบผาไหลมาสู่ในวังน้ำ
สุสานเทวีผู้มีความช้ำเหนือใคร
ดอกไม้ใบไม้ไหลมา
คล้ายพวงหรีดร้อยมาลา
ไหลมาบูชาบัวบาน

น้ำวังนี่หนอเป็นที่ก่อเหตุการณ์
ที่บัวบานฝังกาย
ยึดเอาเป็นหอเรือนตาย
รองกายไว้ด้วยแผ่นน้ำ

จากหุบเขาแนวไพรสู่ในเวียงฟ้า
ฝากไว้เพียงชื่อเลื่องลือเนิ่นช้าฝังจำ
ฝากคำสัตย์นำนึกตรอง
หลงทางสุดหวังคืนครอง
หลงตัวจำต้องลาระทม

เอาวังน้ำไหลเย็น
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม
เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม
เป็นเสียงประโคมร้องต่างแตรสังข์

เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอน
เนื้อเพลงในห้องบทเพลงได้รับความอนุเคราะห์จากสมาชิกที่รักในบทเพลงสุนทราภรณ์
ข้อมูลผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองล้วนได้มาจากการบอกกล่าว ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน หากท่านพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดแจ้งได้ที่ websuntaraporn@gmail.com หรือที่ นิมิตสววรค์
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com

© เอื้อเฟื้อโดย... นิมิตฯ
ผู้ขับร้อง : มัณฑนา โมรากุล
ลำนำเพลง คลิกที่นี่
เกร็ดเพลง


© เพลงจากภาพยนตร์เรื่อง ร่มฟ้าเวียงพิงค์
กังหันลม
© บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2494 โดย มัณฑนา โมรากุล
กังหันลม
© เพลงนี้เมือคุณพี่รวงทองนำมาร้องอัดแผ่นสำหรับภาพยนต์เรื่อง สันกำแพง คุณครูสนิท ศ.ได้แต่งเนื้อร้องเพิ่มขึ้นอีกท่อนหนึ่งซึ่งไม่ปรากฎอยู่ในที่นี้
แฟนฯ
© ชอบเพลงนี้มากๆครับ ทำนองไพเราะมาก และเนื้อหาก็กินใจเหลือเกิน
สามโลก
© เพลง วังบัวบาน นี้ ที่จริงแล้ว ผู้บันทึกเสียงต้องเป็น คุณทัศนัย ชอุ่มงาม เพราะเธอร้องเพลงนี้เป็นคนแรก และได้ร้องเพลงนี้เรื่อยมา แต่ในวันอัดแผ่นเสียง คุณทัศนัย ต้องเดินทางไปเชียงใหม่ เพลงวังบัวบาน จึงต้องให้คุณมัณฑนาเป็นผู้ขับร้อง ครับ และเพลงนี้ก็สร้างชื่อเสียงให้คุณมัณฑนามากมาย ในอดีตเพลงนี้ร้องกันเนื้อเต็มครับ แต่ด้วยข้อจำกัดของการอัดแผ่นเสียงทำให้ไม่สามารถบรรจุเนื้อลงไปได้หมด จึงเหลือเพียงที่เราฟังกันทุกวันนี้แหละครับ ปัจจุบันเพลงนี้ยังร้องบรรเลงเนื้อเต็มอยู่ครับ หาฟังได้ที่วงต้นตำรับของเพลงนี้ คือ จารุกนกครับ
เทพกร บวรศิลป์
© ท่อนที่คุณรวงทอง ทองลั่นธม ร้อง ดังนี้ครับ

เหมือนวังสวรรค์ วังรักอันเลิศลอย คู่แดนดอยพนา น้ำวังแอ่งฝังชีวา
บูชารักซื่อเทิดไว้ ฝากชีวิต วิญญาณสู่ในวังน้ำ โธเอ๋ย บัวบานผู้ผ่านความช้ำ เหนือใคร ดอกไม้ใบไม้ไหลมา คล้ายพวงหรีดรักเทวา ไหลมาบูชาบัวบาน
วรวิทย์
© เพลงบทนี้มีความเป็นบทกวี และ สุนทรีย สูงมากครับ ไพเราะมากนับถือผู้แต่งจริงๆ
เดฟ
© เคยดูหนังที่สมบัติฯเล่น นั่งอยู่ในบาร์แล้วมีเพลงนี้ประกอบ ในอดีตเคยไปทำงานเชียงใหม่ คิดถึงสาวเครือฟ้า และปฏิญาณว่าจะไม่ทรมาณสาวเหนือ เลยไม่มีคู่ ได้แต่หลงเขาแล้วเศร้าครวญ ทอดทิ้งโอกาสของชายชาตรี แต่ไม่ยอมสร้างกรรมรักทั้งที่เชียงใหม่และจังหวัดแพร่ ฟังเพลงนี้แล้วสงสารหญิงที่ถูกชายใจทรามทำลาย
narka
© "วังบัวบาน" เป็นชื่อวังน้ำที่อยู่เบื้องล่างชะง่อนผาสูงบริเวณเหนือน้ำตกห้วยแก้ว ซึ่งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วังน้ำนี้เดิมเรียกว่า "วังคูลวา" หรือ "วังกุลา" ด้วยมีเรื่องเล่ามาก่อนว่ามี "คูลวา-กุลา" ซึ่งหมายถึงแขกคนหนึ่งพลัดตกลงไปตายในวังน้ำแห่งนี้ คำว่า "คูลวา-กุลา" ในภาษาล้านนา หมายถึง แขกหรือฝรั่งชาวต่างชาติ ซึ่งถือว่าไม่เป็นที่พึงต้อนรับ วังน้ำที่เกิดเหตุจึงได้ชื่อดังกล่าว ทั้งนี้ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นักเขียนสารคดีเชิงบันทึกเหตุการณ์กล่าวไว้ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเป็น "วังบัวบาน" เมื่อ พ.ศ. 2487 โดยเหตุที่มีหญิงชื่อ "บัวบาน" ตกลงไปตายในน้ำวังอีก วังน้ำอาถรรพณ์จึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อว่า "วังบัวบาน"

เรื่องราวการตายของบัวบานมีการโจษจันกันอยู่สองกระแส บ้างเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย บ้างว่าเป็นเพราะหญิงคนงามดังกล่าว พลัดตกโดยอุบัติเหตุ แต่ก็มีสาเหตุมาจากเรื่องชู้สาว

จากการให้สัมภาษณ์ของนายศิริพงษ์ ศรีโกศัย (นักจัดรายการวิทยุ ที่ใช้นามแฝงว่า "ย่าบุญ") เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 เล่าว่าที่ตั้งบ้านของบัวบาน ปัจจุบันอยู่ฟากถนนตรงกันข้ามกับอาคารอำนวยการหลังเก่าของโรงเรียนปรินส์รอยแยลล์วิทยาลัย เชียงใหม่ มีอาชีพเป็นครูสอนในโรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนซินเซิง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว และโรงเรียนฮั่วเอง ครูบัวบานมีคนรักเป็นนายทหารรักษาพระองค์ ต่อมาถูกนายทหารดังกล่าวสลัดรัก บัวบานจึงเสียใจมาก และได้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยการกระโดดลงไปในวังน้ำแห่งนั้น

ส่วนเจ้าบุญศรี ณ เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 13 ตุลาคม 2541 ว่า ครูบัวบานมีสถานที่อยู่ตรงกันกับที่กล่าวมาแล้ว แต่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ครูบัวบานเป็นคนสวยจนเป็นที่เล่าลือกันทั่วไป ในช่วงที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 - 2488) ครูบัวบานคนสวยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนั้นได้มีทหารหน่วยราบจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งอยู่ที่วัดฟ้าฮ่ามด้วย นายร้อยตรีหนุ่มรูปงามในกองทหารนั้น ได้พบกับครูบัวบานคนสวยบ่อยครั้งเข้า ก็สนิทสนมแล้วกลายเป็นคู่รักและได้เสียกันขึ้น ต่อมานายร้อยผู้นั้นกลับลงไปกรุงเทพฯ ตามคำสั่ง พร้อมกับคำสัญญาว่าจะขึ้นมาแต่งงานกับครูบัวบานคนงาม แต่คำสัญญานั้นลงท้ายก็กลายเป็นคำลวง เพราะนายร้อยตรีนั้นมีภรรยาอยู่แล้ว ครูบัวบานรออยู่นานจนผิดสังเกต และเห็นว่าครรภ์โตมากขึ้น เมื่อแน่ใจว่าตนถูกหลอกแน่แล้ว จึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำตาย

ในบทความ ชื่อ "วังบัวบาน" ของสมาน ไชยวัณณ์ ตีพิมพ์ในวารสาร "คนเมือง ฉบับหัวดำ" ต้อนรับสงกรานต์ 2511 กล่าวว่า ครูบัวบานตายเพราะอุบัติเหตุ โดยอ้างเอาคำสารภาพก่อนตายของอดีตครูประชาบาลคนหนึ่งซึ่งเป็นคนรักของครูบัวบาน ผู้เขียนบทความกล่าวว่าตนรู้จักกับครูบัวบานเป็นอย่างดี และตนมีอายุอ่อนกว่าครูบัวบาน 8-9 ปี ครู่บัวบานเป็นสมาชิกของตระกูลและครอบครัวของผู้มีชื่อเสียงดี ฐานะดี จบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในเชียงใหม่ แล้วได้เป็นครูสอนที่โรงเรียนนั้น และครูบัวบานมีความสัมพันธ์ฉันคนรักกับครูประชาบาลคนหนึ่ง ผู้เขียนบทความเล่าว่า ในขณะที่อดีตครูประชาบาลคนรักเก่าของครูบัวบานป่วยหนักอยู่ในบางกลางเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งได้ออกปากเล่าแก่ภรรยา บุตร และญาติสนิทว่า ตนเคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูบัวบาน ทั้ง ๆ ที่ตนก็มีภรรยาอยู่แล้ว เมื่อครูบัวบานตั้งท้องแล้วก็ได้นัดครูประชาบาลคนรักไปตกลงกันในที่ปลอดคนแห่งหนึ่งบนห้วยแก้ว ครูบัวบานขอให้จัดแต่งงานเสีย เพื่อมิให้เป็นที่ละอายแก่ชาวบ้านและเพื่อเห็นแก่ทารกในครรภ์ หลังจากที่ต่างก็ให้เหตุผลกันเป็นเวลานาน ครูประชาบาลก็สรุปว่าตนยังไม่อาจด่วนทำอะไรลงไปได้ เพราะมีลูกเมียอยู่แล้ว ครูบัวบานไม่อาจทนฟังต่อไปได้ จึงผละจากแล้ววิ่งหนีไปโดยไม่ใส่ใจระมัดระวังในเส้นทาง และได้พลาดตกจากหน้าผาสู่ "วังคูลวา-กุลา" และเสียชีวิตโดยไม่อาจช่วยได้ทัน ครูประชาบาลคนนั้นเสียใจเป็นที่สุด ด้วยความตกใจและกลัวโทษ ก็ได้แต่แอบซ่อนตัวกลับลงมาจากห้วยแก้วและไม่ยอมปริปากให้ผู้ใดได้ล่วงรู้ เมื่อมีคนไปพบศพครูบัวบานแล้ว เรื่องหญิงงามที่ตายในวังน้ำก็ได้กลายเป็นหัวข้อที่กล่าวขานกันทั่วเมือง ผู้เขียนบทความกล่าวว่า ด้วยผลกรรมที่ทำให้ครูบัวบานต้องตายนั้น ครั้งหนึ่งได้เกิดพายุใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ แรงพายุได้โหมกระหน่ำทำให้มะพร้าวต้นหนึ่งล้มฟาดลงมาทับหลังของครูประชาบาลผู้นั้นจนหลังหักและกลายเป็นอัมพาต เขาจึงลาออกจากราชการมาอยู่กับครอบครัว และยังชีพอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญ จนเมื่อล้มป่วยหนักจึงได้ปริปากบอกเรื่องของตนกับครูบัวบาน พร้อมกับย้ำว่าครูบัวบานตายเพราะอุบัติเหตุ มิได้ตั้งใจจะฆ่าตัวตาย

จากการศึกษาของ สุธาทิพย์ สว่างผล ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณกรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2531 กล่าวว่า ในหนังสือ นิทานพื้นบ้านไทย ของวสันต์ ปัณฑวงศ์ พ.ศ. 2522 กล่าวถึงเรื่องของครูบัวบานในแง่ที่ผิดแผกออกไป โดยกล่าวว่า มีปลัดอำเภอหนุ่มรักกับลูกสาวคหบดีชื่อบัวบาน และได้หมั้นหมายกันไว้โดยที่ไม่มีผู้ใดขัดข้อง แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะปลัดอำเภอเป็นทาสการพนันทุกชนิด ทำให้เกิดหนี้สินจนต้องยักยอกเงินของทางราชการไปใช้หนี้และเล่นการพนันด้วย ต่อมาได้ขอเงินจากบัวบานว่าจะไปใช้หนี้ราชการ แต่กลับนำไปเล่นการพนันอีกจนหมด จากนั้น ปลัดอำเภอหนุ่มได้นัดบัวบานไปสารภาพผิดที่หน้าผา แต่ทั้งคู่กับทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนบัวบานทนไม่ได้จึงกระโดดหน้าผาตาย ส่วนปลัดอำเภอหนุ่มทาสการพนันนั้น ไม่มีการกล่าวถึงอีกว่า ได้โดดหน้าผาตามหรือไม่ และเรื่องของครูบัวบานนี้ สุธาทิพย์ สว่างผล ได้ไปสัมภาษณ์คนที่สนิทกับครอบครัวของครูบัวบานผู้หนึ่งชื่อ นางอรุณ หมู่ละสุคนธ์ 130 ถนนแก้วนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 ซึ่งได้ความว่าบัวบานและหนุ่มชาวภาคกลางได้รักกันโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง และบัวบานได้ตายเพียงผู้เดียว เมื่อบัวบานตายแล้วชายหนุ่มก็หายหน้าไป ญาติของบัวบานต่างคิดว่าเป็นการฆาตกรรม แต่ผู้เล่าเห็นว่าน่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือบัวบานอาจกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายก็ได้ จากความตายอย่างน่าสะเทือนใจของครูสาวคนงามทำให้มีผู้โจษจันกันอย่างกว้างขวาง ในครั้งนั้น กล่าวกันว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งอยู่ที่วัดพระนอนป่าเก็ดถี่ อำเภอสารถี จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเรื่องนี้มาแต่งเป็นคำกลอนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ภิกษุรูปนั้นว่ากันว่าใช้นามปากกาว่า "เลิศ ลานนา" ซึ่งก็ว่าเป็นนามปากกาของนักเขียนสารคดีคนสำคัญของเชียงใหม่ชื่อ บุญเลิศ พิงค์พราวดี (บ้างก็ว่าภิกษุที่แต่งกลอนนั้นเป็นพระอยู่ที่วัดดอยสุเทพ) และว่าต่อกันมา "สนิท ส." (สนิท สิริวิสูตร) ผู้เป็นนักแต่งเพลง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่เชียงใหม่ก็ได้นำบทกลอนดังกล่าวนั้นมาปรับปรุงขึ้นอีก แล้วแต่งเป็นเพลงชื่อ "วังบัวบาน" โดยมี อรุณ หงสวีณะ เป็นผู้แต่งทำทำนอง และมัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง
คอยรวีวันใหม่
© ขอพูดถึงอีกเพลงหนึ่ง ชื่อ "วังบัวบาน" เหมือนกัน และเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นคนละเพลง คือคนละทำนอง คนละเนื้อร้อง แต่มีเนื้อซ้ำกันเป็นบางตอน เพลงนี้คุณวงจันทร์ ไพโรจน์ เป็นผู้ร้องบันทึกเสียง.. ผมไม่ทราบว่ามีผู้อื่นร้องบันทึกเสียงด้วยหรือเปล่า และยังไม่ได้ค้นคว้าหาชื่อผู้แต่ง เพลงนี้ไพเราะไปอีกแบบนะครับ จึงขอเอาเนื้อร้องมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

วังเอ๋ยวังบัวบาน สุสานเทพี ผู้มีความช้ำเหนือใคร
ฝังร่างฝังรัก ฝากรอยอาลัย
เอาวังน้ำเย็นเช่นเรือนตาย วิญญาณเวียนว่ายในน้ำวัง

*จากเขาลำเนาไพรสู่ในเวียงฟ้า เกิดมาไม่พ้นอนิจจัง
เพราะเชื่อถือนัก ว่ารักจริงจัง
ไม่เคยระแวงไม่เคยระวัง ชีพนางจึงฝังสังเวยธาร

เหลือเพียงชื่อไว้ เหลือเพียงดอกไม้ คล้ายดั่งมาลา
ไหลมาบูชาบัวบาน
น้ำวังนี่หนอที่ก่อเหตุการณ์ นี่แหละคือสุสาน
เปรียบดังสถานโลงทอง

ยินเสียงน้ำตกซ่า แว่วมาน่าฟัง เปรียบดังแตรสังข์เสียงกลอง
เสียงหรีดระงม ลมพลิ้วเป็นทำนอง
ดุจดังเสียงเพลงกล่อมเมรุทอง ให้ผู้เจ้าของวังบัวบาน

*(ซ้ำเฉพาะท่อนนี้)

ธานินทร์๙๙
© ขอยกย่องผู้แต่งเนื้อเพลง " วังบัวบาน " ว่า มีความลึกซึ้งที่สามารถยกเอาสิ่งต่างๆในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ มาเปรียบกับชีวิตคนในท่อนที่ ๕-๖ เช่น เอาเมฆ เป็นเพดาน หน้าผา เป็นม่าน แสงดาวแสงจันทร์ เป็นประทีปโคมเทียน วังน้ำ เป็นเมรุ เสียงน้ำตก เป็นเสียงกลองประโคม ฟังแล้วนึกถึงความยิ่งใหญ่ตระการตาของเหตุการณ์ขณะที่บัวบานเสียชีวิต
ทิดอ้วน
© ท่อนสุดท้ายของเพลงนี้ น่าจะเป็น "อยู่เดียว ท่ามกลาง ดงดอย" เพราะคำว่าดอย หมายถึงป่าภูเขา ถ้าเป็น ดอน หมายถึงที่สูง ไม่น่าจะเข้ากัน และหากลงด้วยคำว่าดอย การสัมผัสจะสระสรวยกว่า ฟังมาตั้งแต่ปี 02 ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะจำผิดหรือเปล่า เล่าสู่กันฟัง ไม่ซีเรียสนะครับ พอมาได้อ่านกาพย์นางลอย ที่ไร ก็ให้นึกถึงเพลงวังบัวบานทุกที เพราะตอนที่พระราม รำพึงว่า "ดาวเดือนจะต่างเทียน วิเชียรแก้ว กลีบจงกล เมฆหมอกในเวหน จะต่างพุ่มอยู่เรียงราย" ให้ความรู้สึกที่สะเทือนอารมณ์เหมือนกับ เพลงงวังบัวบานไม่ผิด ตำนานนี้จะเท็จจริงเพียงใดไม่สามารถยืนยันได้ แต่ความไพเราะของเนื้อเพลงและทำนอง สร้างความรู้สึกที่อ่อนหวานอบอุ่นในความรักและวังเวงใจในตอนจบ เป็นเพลงที่อมตะมาก ไม่ใช่นิยายน้ำเน่า ความไพเราะของทำนอง ตลอดจนความกินใจของเนื้อเพลง น่าเผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลัง

นิกร ธเนศราภา สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 6
© มีที่ฟังออนไลน์ได้บ้างมั๊ยคะ?(เพลงวังบัวบาน)
experience
© เพลงนี้เป็นเพลงที่ไพเราะ แล้วก็จับใจคะ หาซื้อมาฟังได้นะคะ
จาก วีซีดีคอนเสิร์ต คิดไว้ในใจ กับสุนทราภรณ์ คะ
แอม
© ที่ฟังเพลงออนไลน์(วังบัวบาน) เคยหาแล้วนะคะ แต่ก็ไม่เจอในอินเตอร์เน็ตสักเท่าไรคะ ถ้าได้ฟังเมื่อไรก็จะเอามาบอกเล่านะคะ

แอม
© มีครับที่ www.ijing.com ลองเข้าไปฟังครับ
Noman
© ขอโทษครับพิมพ์ผิดครับ ที่ถูกต้องเป็น http://www.ijigg.com ครับ
Noman
© เพราะจริง ๆ ค่ะ
ดอกบัวหลับ
© ฟังเพลงนี้ แล้ว โดยเฉพาะ 2 ท่อนหลัง ที่ว่า "เอาวังน้ำไหลเย็น นี่หรือมาเป็นเมรุทอง ...." บรรยายได้ดีมาก หลับตานึกเห็นภาพ เห็นบรรยากาศเลยครับ เสมือนว่าเราไปนั่งอยู่ริมลำธารน้ำตกในเวลาโพล้เพล้

ศรีพงษ์
© น่าสงสารสาวบัวบาน
มาย
© บทประพันธ์เพลงนี้มีความไพเราะมากบรรยายถึงธรรมชาตินำมาเปรียบเทียบธรรมชาติชีวิตได้อย่างสมบูรณ์
บุญเลิศ ไชยมงคล
© เคยอ่านจาก"เบิกฟ้า มัณฑณา โมรากุล" บัวบาน มีชื่อเต็มว่า บับาน ไชยวงศ์แก้วแต่ไม่ได้บอกรายละเอียด

วนิดา
© หนูได้ฟันเพลงฯก็เพราะพ่อฟังแล้วสนุกสบายหูค่ะ
จุ๊เด็กรุ่นใหม่
© ฟังเพลงได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=Lou_I7YP2Tw
โก๋หลังวัด
© เนื้อเพลงบรรทัดสุดท้ายที่คุณมัณทนาร้องไว้ครับ...

อยู่เดียวท่ามกลางดง ดอย

มนต์เสียงเพลง
© ครูนิทัศน์ ละอองศรี เคยร้องไว้เช่นกันครับ
AAA
© แล้วที่เคยได้ยินจากพี่เล็กที่ร้องว่า วังเอ๋ยวังบัวบานสุสานเทพี ผู้มีความรักเหนือใคร ฝังร่างฝังรัก ฝากรอยอาลัย ล่ะค่ะ มีการเปลี่ยนแปลงมาจากวังบัวบานนี้ใช่มั้ยคะ ขอถามผู้รู้ทั้งหลายค่ะ ช่วยให้ความกระจ่างด้วยนะคะ ^__^
tidteena
© เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ทำให้ผมรู้จักคุณพี่มัณฑนาครับ รักและชื่นชอบท่านมากที่สุด
วิชย์
© วังบัวบานแจ่มใส
อภิกัลยา คณานุรักษ์

เชิญส่งเกร็ดเกี่ยวกับเพลงวังบัวบาน