บ้านคนรักสุนทราภรณ์
สังคมของคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์
ลาแล้วจามจุรี
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล |
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน |
ลาแล้วจามจุรี ที่เตือนใจ เสียดายที่จากไป เคยอยู่ใกล้ทุกสมัยมั่น เจ้าเอยเคยชิดติดพัน ต้องลาโศกศัลย์เศร้าใจ นับแต่วันนี้ต่อไป ลับลาจะห่างไกล เหมือนดังจะขาดใจ คร่ำครวญหวนไห้ ก็ไม่คืนมา ลาแล้วจามจุรี ที่เคยเห็น มิตรดีที่เจ้าเป็น ได้ร่มเย็นทุกเสมอหน้า จากไปใจหายจากลา โอ้ใครจะมาปลอบใจ มิใช่จะร้างห่างไกล ถึงตัวจะจากไป สัมพันธ์ทางจิตใจ จะไกลหรือใกล้ใจอยู่ด้วยเอย |
ข้อมูลผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองล้วนได้มาจากการบอกกล่าว ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน หากท่านพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดแจ้งได้ที่ websuntaraporn@gmail.com หรือที่ นิมิตสววรค์
© ในช่วงปี พ.ศ. 2483 ครูเอื้อนำวงดนตรีมาบรรเลงเป็นประจำทุกปีในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของมหา วิทยาลัย และในช่วงนั้น เองเป็นช่วง ที่นิสิต ที่ครูเอื้อ และครูแก้วสนิทสนมด้วยถูกรีไทร์จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จึงได้ร่วมกัน แต่งเพลงนี้ ขึ้นแสดงในรายการ ณ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย โดยวงสุนทราภรณ์ เพื่อเป็นการอำลาอาลัยจากสถาบัน ที่รักแห่งนี้
-
© ฟังแล้วน้ำตาซึมทุกครั้ง โดยเฉพาะจากต้นฉบับที่คุณมัณฑนาร้อง
ลุงกต
© ชาวจุฬาสมัยก่อน รุ่น 40 กว่าปีที่แล้ว จะไม่มีใครกล้าร้องเพลงนี้ จนกว่าจะได้รับปริญญาแน่นอน สมัยนั้น วงสุนทราภรณ์ จะบรรเลงเพลงนี้ ตอน 2 ยามพอดี ของวันงานฉลองปริญญา ทุกๆคน จะช่วยกันร้องเต็มเสียง ทั้งน้ำตา นึกถึงแล้ว น้ำตาจะไหลออกมาให้ได้
ลุงกต
© ทุกคำทุกประโยคแต่งไว้อย่างประณีต "--เสียดายที่จากไป"นี่เมื่อได้อ่านประวัติเพลงนี้ถึงรู้ความหมาย และทุกคำต่อมาล้วนกินใจจนสุดท้าย"ถึงตัวจะจากไป สัมพันธ์ทางจิตใจจะไกลหรือใกล้ใจอยู่ด้วยเอย"----
สมควร
© ไม่ได้เห่อสถาบันนะคะ แต่ว่าคนร้อง ร้องได้กินใจมากๆบัณฑิตทุกท่าน(ส่วนมากสมัยก่อน)จะร้องได้ทุกเพลงแม้กระทั่งเนื้อร้องตรวจทานได้เลย
เปี๊ยก 2499
© ตึกคณะวิศวกรรม ยังคงสภาพเดิมหรือเปล่าครับ จากมานานอยากไปดูอีกที
แบน
© คิดว่าต้นจามจุรียังคงอยู่ เพื่อออกดอกก้มปูให้เกลื่อนถนนจากแยก ปทุมวันถึงสามย่าน นะครับ คิดถึงอดีต ไม่รู้จะมีให้ดูอีกหรือเปล่า หรือว่า เขาเอาไปสร้างรางรถไฟฟ้า เกลื่อนเมืองเสียหมดแล้ว เสียดายที่จากไป
แบน
© ยุคสมัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีการนำมาร้องกันหลายเวอร์ชั่น ทั้งคุณอรวี สัจจานนท์ หรือนักร้องประสานเสียงของจุฬาฯเอง แต่ที่ฟังแล้วไพเราะกินใจที่สุดต้องเป็นเวอร์ชั่นคุณมัณฑนา โมรากุล ที่สามารถสะกดภวังค์บัณฑิตเก่าๆทุกคนที่ได้ฟังให้น้ำตาเอ่อซึม มองเห็นภาพตัวเองย้อนยุคกลับไปยังวันเก่าๆ ณ สถานที่อันเป็นที่รัก...จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อารมณ์ดีมาก
© แต่งขึ้นสำหรับนิสิตจุฬาฯใช้ร้องในวาระสิ้นสุดการศึกษา กำหนดให้มัณฑนาร้องไว้แต่แรกเพราะน้ำเสียงเหมาะกับเพลงนี้ที่สุด เพลงของจุฬาฯที่ร้องไว้อีกเพลงคือ จามจุรีศรีจุฬา ซึ่งเคยร้องไว้ก่อนนำมาร้องหมู่อัดจำหน่าย เพลงนี้บันทึกเสียงหลังที่เธอลาออกไปร่วมปี แต่หวลกลับมาร้องตามความต้องการของครูเอื้ออัดวันเดียวกับเพลงอาลัยลา และงอนแต่งามในขณะที่ตั้งครรภ์ซึ่งมีผลต่อการขับร้องบ้าง ทำให้เธอพลาดการร้องเพลงอื่นๆที่ครูเอื้อหมายจะให้ร้องวันนั้นเช่น เพลงหวานคำ โดยเฉพาะเพลง กล่อมวนา เพลงเหล่านี้ได้มีนักร้องร่วมวงคนอื่นมาอัดแทน
ศุภวัทน์ แพ่งอ่ำ
เชิญส่งเกร็ดเกี่ยวกับเพลงลาแล้วจามจุรี