กรุงเทพราตรี
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com
     คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ websuntaraporn.com
ญ. โอ้กรุงเทพเมืองฟ้าอมร
ช. ฮัม...
ญ. สมเป็นนครมหาธานี
ช. สมเป็นนครมหาธานี
ญ. สวยงามหนักหนายามราตรี
ช. งาม เหลือเกินเพลิดเพลินฤดี
ญ. ช่างงามเหลือที่จะพรรณนา
ช. เที่ยวดูเล่นแลเห็นอาคาร
ญ. ฮัม...
ช. เหมือนดังวิมานสถานเทวา
ญ. เหมือนดังวิมานสถานเทวา
ช. ทั้งยานพาหนะละลานตา
ญ. งามแสนงามเหมาะนามสมญา
ช. เหมือนเทพสร้างมาจึงงามวิไล
ญ. ราชดำเนินน่าเดินเพลิดเพลิน เรียบร้อยพราวพรรณ
ช. สมนามสำคัญเฉิดฉันอำไพ
ญ. แสงไฟแสงโคมเล้าโลมฤทัย
ช. ทั้งเมืองวิไลคล้ายยามทิวา
ญ. ยอดปราสาทเป็นชั้นเป็นเชิง
ช. ฮัม...
ญ. เหมือนลอยระเริงเล่นเหลิงนภา
ช. เหมือนลอยระเริงเล่นเหลิงนภา
ญ. เหมือนดังจะเย้ยดวงดารา
พ.เป็นเพราะจันทร์ผ่องพรรณฉายมา จึงวาววับตายิ่งพาเคลิ้มใจ

ญ. ยอดมณฑปช่อฟ้าตระการ
ช. ฮัม...
ญ. สำเริงสำราญสถานเวียงชัย
ช. สำเริงสำราญสถานเวียงชัย
ญ.เหมือนเมืองสวรรค์ของชาวไทย
ช. ชนทั้งเมืองรุ่งเรืองวิไล
ญ. ถ้วนทั่วทุกวัยเลิศจริงหญิงชาย
ช. ดังจะข่มอัปสรเทวา
ญ. ฮัม...
ช. ยิ้มยวนเย้าตาดูแล้วสบาย
ญ. ยิ้มยวนเย้าตาดูแล้วสบาย
ช. หรือเป็นชาวฟ้ามาเดินกราย
ญ. เมืองนั้นงามดั่งเทพนิยาย
ช. ทั้งหญิงและชายแต่งกายสวยดี
ญ. แหล่งเที่ยวหย่อนใจทั่วไป หลากหลายรายเรียง
ช. หญิงชายเคล้าเคียงเพลินเสียงดนตรี
ญ. ทุกคืนเสียงเพลง ครื้นเครงเพราะดี
ช. สวนลุมพินีเขาดินวนา
ญ. โอ้เมืองแก้วเลิศแล้วราตรี
ช. ฮัม...
ญ. ทุกสิ่งล้วนมีชีวิตชีวา
ช. ทุกสิ่งล้วนมีชีวิตชีวา
ญ. ทั้งเงาลำน้ำเจ้าพระยา
พ. ยามสายลมเฉื่อยฉิวพลิ้วมา ประกายวับตาเลิศเลอนักเอย

ญ. หากกรุงเทพฯขาดฉันและเธอ
ช. ฮัม...
ญ. ถึงงามล้ำเลอไม่พร้อมไพบูลย์
ช. ถึงงามล้ำเลอไม่พร้อมไพบูลย์
ญ. เหมือนเป็นเมืองร้างใจอาดูร
ช. ความวิไลไม่งามพร้อมมูล
ญ. ขาดความสมบูรณ์เกื้อกูลทวี
ช. เมื่อมาอยู่ใกล้ชู้ชูใจ
ญ. ฮัม...
ช. ทั้งเมืองวิไลสดใสทันที
ญ. ทั้งเมืองวิไลสดใสทันที
ช. เพราะเราถนอมกันโดยดี
ญ. ความรักเราแน่นอนทวี
ช. ถึงนานกี่ปีไม่มีร้างรา
ญ. ต่างคนปลื้มเปรมอิ่มเอมคลอเคล้ากันไป
ช. น้ำคำน้ำใจมอบไว้บูชา
ญ. รักเราน้อมนำน้ำคำสัญญา
ช. ขอองค์พุทธารับเป็นพยาน
ญ. จิตสลักด้วยรักเจือจุน
ช. ฮัม...
ญ. นับเป็นผลบุญอุดหนุนบันดาล
ช. นับเป็นผลบุญอุดหนุนบันดาล
ญ. ทุกยามค่ำเช้าเราบนบาน
พ. ความรักเราไม่มีร้าวราน ถ้อยคำสาบานแน่นอนนักเอย

เนื้อเพลงในห้องบทเพลงได้รับความอนุเคราะห์จากสมาชิกที่รักในบทเพลงสุนทราภรณ์
ข้อมูลผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองล้วนได้มาจากการบอกกล่าว
ข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน
หากท่านพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดแจ้งได้ที่ websuntaraporn@gmail.com หรือที่ นิมิตสวรรค์
....................................................
เอื้อเฟื้อโดย... กังหันลม
©

ผู้ขับร้อง : สุนทราภรณ์ - ชวลี

ลำนำเพลง คลิกที่นี่

เกร็ดเพลง
© พรรณาได้ไพเราะมาก สมจริงสมจัง ดูราวกับว่ากรุงเทพเป็นเมืองสวรรค์จริงๆ
ถ้าใส่คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ คงเป็นเพลงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากทีเดียว
K_Ji
© เท่าที่เคยได้ยินมาจากม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ว่าเพลงนี้ครูแก้วถอดความมาจากวรรณคดีเรื่อง อิลราชคำฉันท์ครับ
smileman75@hotmail.com
© เพลงนี้คลื่นลุกใหม่นำมาร้องใหม่โดยขับร้องหมุ่
แอร์
© น่าจะมาจาก "สามัคคีเภทคำฉันท์" ของ ชิต บุรทัต ตอนหนึ่งที่ว่า
"สามยอดตลอดระยะระยับ วะวะวับสลับพรรณ
ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน จะเยาะยั่วฑิฆัมพร"
พรานทะเล(หนุ่ม)
© เพลงนี้ส่วนมากที่ได้ยินกันมักจะไม่ร้องเนื้อเต็ม หากใครมีแผ่นเสียงเนื้อเต็มที่ร้องโดยครูเอื้อและคุณชวลีย์ ขอความกรุณาช่วยเผยแพร่ด้วย
กบ ณ แก่งคอย
© เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่เกิน 10 นาทีของสุนทราภรณ์
เด็กน้อยในลาดกระบัง
© เพลงนี้เป็นเพลงที่ จอมพลถนอม กิตติขจร ชอบฟังเป็นพิเศษและเพลงนี้เป็นเพลงที่ร้องก่อนการรัฐประหารตนเองด้วย
ท่านนายพล
© มีใครรู้ประวัติเพลงนี้บ้างคะช่วยลงให้หน่อยนะคะต้องการข้อมูลด่วนคะ
เด็กเรียน
© จะเป็นพระคุณอย่างมากคะ
เด็กเรียน
© ฟังแล้วรักกทม.มากๆๆเนอะๆๆ
ภาพตะวัน
© เป็นเพลงชนะการประกวดสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ป๋องแป๋ง
© เนื้อหาของเพลง บ่งบอกเลยว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก เดี๊ยนปลื้มค่ะ
จันทราภรณ์
© หุหุ...ละครเหมือนชื่อเพลงนี้เลยน่ะค่ะ
เอ...หรือว่าเพลงนี้เหมือนชื่อละคร...กันน่ะ
ไพเราะ
© ฟังแล้วเพราะมากๆเลยครับ คิดถึงกรุงเทพขึ้นมาทันทีเลยครับ
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
© เพลงนี้ ถ้าเนื้อเต็มคงต้องไปปลุกครูเอื้อ และคุณชวลี มาช่วยร้องกันใหม่นะคับ ตอนแต่่งเนื้อเต็มแต่ตอนอัดแผ่นไม่พอต้องตัดออก เหมือนเพลงคูหาสวรรค์ของคุณมัณฑนา แต่มีการร้องคู่อีกครั้ง ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นรุ่งฤดีคับ อันนี้เนื้อเต็มแน่
จันทร์กะพ้อ
© มันก็เป็นเรื่องแปลกดีนะ ที่ชื่อละคอนเรื่องหนึ่งชื่อเหมือนกันเป๊ะเลย คิดว่าเพลงนี้ไม่เหมาะกับสมัยมั๊ง เลยไม่ได้เอาไปใส่
???
© เน้อเพลง บอกถึงกรุงเทพท่เปรียบเสมือนกับเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ทุกคนท่อยู่ในกรุงเทพก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ขอฝากไว้กับผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นผู้บริหาร ช่วยพัฒนาให้เป็นเหมือนดั่งเพลงนี้ด้วยครับ
รัฐศาสตร์
© Thai music
pam
© ก็ดีค่ะ
จินค่ะ
© ผมเคยได้ยินครูใหญ่ นภายนเล่าถึงเพลงนี้ว่า ประมาณช่วงปี ๒๔๘๓ หลวงวิจิตรวาทการแต่งเพลง "อนุสาวรีย์ไทย" (ยิ่งแลยิ่งสูง ยิ่งเหมือนจะจูงให้เเดน) เพื่อประกอบละครที่มีชื่อเดียวกับเพลงนี้ ในการฉลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื้อหาของเพลงเป็นการเชิดชูความสง่างามของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ครูเอื้อและครูแก้วได้ฟังเพลงนี้จึงแต่งเพลงใหม่เพื่อแก้ลำกับเพลงของคุณหลวงวิจิตร เพลงใหม่นี้ก็คือเพลง "กรุงเทพราตรี"
ยามเช้า
© เป็นเพลงที่ไพเราะมากเพลงหนึ่ง และคุณสุกรี ได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้ เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบสารคดี "เสด็จประพาสต้น" ครับ
หนูรัก ร.๕ ค่ะ
© คุณลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าให้ฟังเมื่อกี๊ว่า เพลงนี้ครูเอื้อและครูแก้ว แต่งตอนที่อยู่ด้วยกันที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ. ราชดำเนิน (โรงแรมรอยัล) ท่ามกลางการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาโจมตีญี่ปุ่นที่ยึดกรุงเทพไว้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกรุงเทพ บอบช้ำมากทีเดียว แต่ครูแก้วยังชมกรุงเทพได้งดงามและมีชีวิตชีวาขนาดนี้ บรมครูทั้ง 2 ท่านอัจฉริยะจริงๆค่ะ
เดียว
© เพลงเพาะมากค่ะ ฟังเเล้วซึ้งกินใจมาก
เด็ก ร.ร. หนองตากยาตั้งวิริยะราษฎร์บำรุง
© ชอบเพลงนี้มากไพเราะมากๆค่ะ
เเต่งได้สุดยอดเลย
ถูกใจนะคะ
ขอบคุณสำหรับเกร็ดความรู้นี้
ไอติม2หนองตากยาเมืองกาญค่ะ
© ถ้าอยากทราบประวัติครูเพลงจะหาได้จากที่ไหนครับ
s
© อยากทราบว่าเพลงนี้ได้อัดแผ่นครั่งสปีด 78 เมื่อไหร่ครับ
คุณวัส
© เพลงเพาะมาก

naja
© ควรจะบอกปี พ.ศ.ที่เพลงนี้ออกสู่สาธารณ (หากไม่ในแง่การแสดงขับร้องต่อสาธารณชน ก็ในแง่การวางแผ่นเสียงจำหน่าย เพื่อประโยชน์ให้ผู้คนได้เข้าใจสภาพการณ์ด้านต่างๆทั้ง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม หรือแม้แต่การเมืองได้ดีขึ้น) เพื่อคนสยามจักได้ใช้และเข้าใจความเป็นจริงของแต่ละยุคได้อย่างถ่องแท้อ้างอิงได้เหมือนนานาอารยะประเทศ Pd.
ครองแผน ชิดธรรม
© ต้องขอขอบคุณ ท่าน กังหันลม, นิมิตสวรรค์ หมื่นกระบี่ไร้พ่าย, ศศิธรารัตน์, อำนาจ รักษ์งาน และท่านอื่นๆที่ได้รับรู้ Fact และหรือ Comment ที่เกี่ยวกับเพลงแล้วกรุณานำมาเผยแพร่บอกต่อสาธารณชน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ สังคมที่ก้าวหน้าเขามักแน่นด้วยภูมิปัญญา ผมว่าท่านมีส่วนช่วยให้สังคมสยามเข้มแข็งขึ้น ให้รู้จักเคารพประวัติศาสตร์ รู้จักจดจำและหรือแยกแยะอะไรได้ดีมากขึ้น ดีจริงครับเพื่ออนุชนคนรุ่นต่อไปจะได้ไม่ลำบาก และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นว่า สังคมสยามก็มีอารยธรรมที่เป็นหลักเป็นฐาน 25531008Pd.วันสตรีสากล
ครองแผน ฉายธรรม
© ผมค้นได้ว่า นอกจาก สามัคคีเภทคำฉันท์ ของ ชิต บูรทัต ( พ.ศ. 2435 -2485 )แล้ว ก็มี อิลราชคำฉันท์ ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร ( ผัน สาลักษณ์ พ.ศ. 2424 - 2466 ) อีกสำนวนหนึ่ง
ลองเอามาเปรียบเทียบกันดู

สามัคคีเภท คำฉันท์

สามยอดยะเยี่ยมยละระยับ วะวะวับสลับพรรณ์
ช่อฟ้าตระการกละจะหยัน จะเยาะยั่วฑิฆัมพร
บราลีพิลาศศุภจรูญ นพศูลประภัศร
หางหงส์ผจงพิจิตระงอน ดุจจะกวักนภาลัย

อิลราช คำฉันท์

เรืองรองพระมนทิรพิจิตร กลพิศพิมานบน
ก่องแก้วและกาญจนระคน รุจิเรขอลงกรณ์
ช่อฟ้าก็เฟื้อยกละจะฟัด ดลฟากฑิฆัมพร
บราลีพิไลพิศบวร นภศูลสร้างลอย

มีความไพเราะด้วยกันทั้งสองเรื่อง
นักอักษรศาสตร์ มักจะนิยม ผลงานของ พระยาศรีสุนทรโวหาร
ส่วน นักอ่านทั่วๆไป นิยม ผลงานของ ชิต บูรทัต เพราะตีพิมพ์เผยแพร่ใน
หนังสือพิมพ์ศรีกรุง
อยากรู้ว่า ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เอาผลงานของใครเป็นตัวอย่าง ก็น่าจะต้องตามไปถามกันเอาเอง
ศรี อยุธยา
© อยากจะรู้จักให้มากกว่านี้ มีทางไหนบ้างอ่ะ
เด็ก 16
© เป็นเพลงหนึ่งในชุด "เพลงแห่งความหลัง"
การ์ฟิลด์
© เพลงนี้ ในละครเรื่อง "กรุงเทพเมืองหลวงของเรา" เป็นเพลงเปิดไตเติ้ลในสองท่อนแรก ส่วนท่อนที่สามเป็นเพลงร้องในละคร ฉากที่วาทิต (ประพนธ์) และรัตนา (ปาณิชชา) กำลังพลอดรักกัน รู้สึกจะถ่ายตรงท่าน้ำวัดอรุณฯ
การ์ฟิลด์
© เป็นเพลงที่ได้ยินครั้งแรก ก็ชอบโดยทันที ต้องขอบคุณละครสั้นเรื่อง เสน่ห์กรุงเทพ ที่ทำให้ผมได้รู้จักเพลงนี้ ^^
จิ๊กโก๋มีกรรม
© 1. บันทึกเสียงครั้งแรกโดย เอื้อ สุนทรสนาน และชวลีย์ ช่วงวิทย์
2. มีการนำมาบันทึกเสียงใหม่ โดย ดาวรุ่งสุนทราภรณ์ เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
3. ประพันธ์ไล่เลี่ยกับเพลง ''เจ้าพระยา'' คือราวประมาณปี 2492 - 2494
การ์ฟิลด์
© ชอบเนื่อหาเพลงนี้มาก โดยเฉพาะเนื้อเต็ม ความยาวในการร้อง 7 นาทีกว่า ๆ
แสดงถึง ความอัจฉริยะในการประพันธ์เพลงของครูเพลงในยุคนั้น ยิ่งได้ฟังยิ่งรัก
เมื่องไทย
วสันต์2000
© ชอบเนื่อหาเพลงนี้มาก โดยเฉพาะเนื้อเต็ม ความยาวในการร้อง 7 นาทีกว่า ๆ
แสดงถึง ความอัจฉริยะในการประพันธ์เพลงของครูเพลงในยุคนั้น ยิ่งได้ฟังยิ่งรัก
เมื่องไทย
วสันต์2000
© ฟังเ้พลงนี้ตั้งแต่เด็กๆประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้เนื้อเพลงทำให้จินตนาภาพถึงเมืองกรุงเทพฯในยุคนั้นได้อย่างยอดเยื่ยมมากค่ะ่
เอื้่อง อุบลราชธานี
© รักเพลงกรุงเทพฯราตรีมากค่ะ
นิดา นิกรพันธุ์
© http://suntarapornmusic.blogspot.com/2012/05/suntaraporn-bangkok-symphony-online.html
นำมาฝากกันแล้วนะครับ สำหรับต้นฉบับเสียงร้องของ ครูเอื้อ กับ คุณชวลี
น่าจะเป็นตัวเต็มครับผม ผิดพลาดยังไง ก็ชี้แนะได้ครับ จะได้ปรับแก้กันต่อไป

ร่วมอนุรักษ์เพลงสุนทราภรณ์กันครับ
สุนทราภรณ์ ต้นฉบับเดิม
© ฉบับหมู่บันทึกเมื่อปี 2537-2540 ครับ
เพลงไทย
© ไม่จริง เพราะมีการบันทึกเสียงใหม่ในโอกาส 9 มิถุนายน 2539 วันกาญจนาภิเษกครับ
เพลงไทย
© กรุงเทพมหานครราตรี
อภิกัลยา คณานุรักษ์
© อยากทราบว่าแต่งปีไหนคะ พอดีจะนำไปทำรายงานค่ะ
นักศึกษาท่านหนึ่ง
 
เชิญส่งเกร็ดเกี่ยวกับเพลงกรุงเทพราตรี
จาก
ข้อความ
 

บ้านคนรักสุนทราภรณ์ เว็บไซต์สำหรับคนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เปิดบริการตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2545
เว็บไซต์นี้ออกแบบสำหรับ Internet Explorer Version 6 ขึ้นไป หน้าจอกว้าง 800 พิกเซลขึ้นไป ขนาดตัวอักษร Medium