เวส สุนทรจามร


เรียบเรียงจาก หนังสือ ๗๒ ปีของข้าพเจ้า

เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๔ ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
เมื่อมีอายุได้ ๖ ขวบ ย้ายตามบิดาซึ่งมียศเป็นนายสิบเอกทหารบก ไปอยู่ที่ตัวจังหวัด และ มารดาเลี้ยง เรียนหนังสือและเป็นลูกศิษย์วัด วัดสัตนารถ พออ่านออกเขียนได้
พออายุ ๑๐ ขวบ บิดาย้ายมารับราชการที่กรุงเทพฯ จึงมาเข้าเรียนที่ วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี (สมัยนั้นไม่รวมกับจังหวัดพระนคร) จนจบชั้นมัธยมปีที่หนึ่ง
พ.ศ.๒๔๕๗ อายุได้ ๑๓ ปี ก็เป็นทหารอยู่ที่ กรมทหารราบที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงกลาโหม
ครูฝึกชื่อ สิบตรีอั้น ดีวิมล ให้หัดเป่าแตรคอร์แน็ต และกวดขันฝึกสอนให้อย่างใกล้ชิด เข้มงวด เพราะหากเรียนไม่ดี จะถูกลงโทษด้วยหวาย ซึ่งครูเวส บอกว่าทารุณมาก
ฝึกหัดเป่าแตรอยู่ได้ ๒ ปีเศษ พอเล่นเพลงสรรเสริญ มหาชัย มหาฤกษ์ เพลงมาร์ชบริพัตร ก็ได้งานเป่าแตรแห่รถโฆษณาหนังและแจกใบปลิว ซึ่งวิ่งไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้ค่าแรงวันละ ๑ บาท นับว่ามากโขอยู่
จากนั้น ครูอั้น ก็พาไปเป่าแตร ที่โรงหนังชวา ที่สามยอด โดยต้องเป่าแตรหน้าโรงหนังก่อนหนังฉาย และเป่าเพลงเชิด เพลงโอด ประกอบภาพยนตร์ เพราะเป็นสมัยหนังเงียบ ไม่มีการพากย์ หรือบันทึกเสียงในฟิล์มเหมือนสมัยนี้
มาในสมัยรัชกาลที่ ๗ กรมทหารราบที่ ๓ ย้ายไปอยู่ที่ท่าช้างวังหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์สถานในปัจจุบัน ไม่นานนัก ก็มีการดุลย์ข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก ครูเวสเองก็อยู่ในจำพวกนั้นด้วย จึงลาออกแล้วไปสมัครเป็นทหาร ในกองแตรวงทหารมหาดเล็ก
จ่านายสิบเล็ก น้อยทิพย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าวง จึงพาไปทำงานที่โรงภาพยนตร์สิงค์โปร์ หรือ ศาลาเฉลิมบุรี อยู่ในราชการมาได้อีกประมาณสองปี ก็ลาออกไปเป็นหัวหน้าวงแตรวงที่โรงหนังบ้านหม้อ และเล่นดนตรีให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญอีกด้วย
พ.ศ.๒๔๗๓ นายร้อยตรีโพธิ สันติกุล มาชักชวนให้ไปรับราชการเป็นทหารแตรวงทหารรักษาวังอีก จึงเป็นทหารกับเขาอีกหนเป็นรอบที่สาม คราวนี้ได้ยศ นายสิบโท
อีกสองปีต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕ ก็ถูกยุบวง จึงต้องออกไปหากินตามเดิมอีก โดยไปเป็นนักดนตรีของวงดนตรี เครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ ซึ่งมีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้ดูแลอยู่ ตามคำชักชวนของครูโฉลก เนตร์สุต ขณะเดียวกันก็ไปเล่นดนตรีกับ นายซิแกร่า บิดาของ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ที่บาร์ห้อยเทียนเหลา ซึ่งกำลังดังสุดขีดเพราะเล่นเพลงในแนวเพลงแจ๊ส ด้วย
ช่วงเดียวกันนั้น ก็ตั้งคณะละครวิทยุ ชื่อ คณะสุนทรจามร มีจิตเสน ไชยาคำ เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง แก้วฟ้า หรือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นผู้แต่งเพลง และครูเวส ต้องรับหน้าที่แต่งทำนองไปโดยปริยาย
ต่อมาจึงแต่งเพลงกับครูแก้ว แล้วเอาไปขายให้กับห้างอัดแผ่นเสียงเป็นการหารายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง จึงเริ่มมีผลงานเป็นที่ปรากฎในวงการเพลงกับเขาบ้าง
ในการออกหากินเป็นงานพิเศษตอนกลางคืนนั้น ครูเวส บอกว่าได้ประสบการณ์ต่างๆ อย่างมากมาย และมีโอกาสได้รู้จักกับนักดนตรีฟิลิปปินส์ ที่เข้ามาเล่นดนตรีหากินอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น เช่น กาดิงค์ ดีล่า / บิลลี่ หรือ คีติ คีตกร / ไปเป่ง ซึ่งต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่วงดนตรีลีลาศ กรมโฆษณาการด้วยกัน
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๑ มีบริษัทไทยฟิล์ม ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐและเพื่อน จัดตั้งวงดนตรีประจำบริษัทเพื่ออัดเพลงประกอบภาพยนตร์ จึงมาชวนครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูเวส สุนทรจามร และเพื่อนๆ อีกหลายคนไปอยู่ด้วย โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง และมีโอกาสได้อัดเพลงยอดฮิตหลายเพลง เช่น เพลงบัวขาว เพลงลมหวน ของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เป็นต้น
ในที่สุด วงดนตรีของบริษัทไทยฟิล์มก็ถึงกาลอวสาน หลวงสุขุมนัยประดิษฐ จึงชวนให้ไปอยู่ที่วงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ เลยย้ายออกจากกรมศิลปากรไปอยู่กับอธิบดีวิลาศ โอสถานนท์ และมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง โดยครูเวส เป็นผู้ช่วยตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
หน้าที่ในตอนนั้น ก็คือ การบรรเลงเพลงส่งกระจายเสียงวิทยุทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ซึ่งต้องเล่นเพลงสากลเป็นส่วนมาก เพราะยังไม่ได้แต่งเพลงไทยสากลกันเลย นอกจากนี้ก็ต้องไปบรรเลงตามงานต่างๆ ของกรม หรือที่มีผู้ใหญ่ขอมา จนต้องเลิกงานด้านละครวิทยุ และงานตอนกลางคืนไปอย่างน่าเสียดาย
นักร้องของวงดนตรีกรมโฆษณาการในตอนนั้นมี ล้วน ควันธรรม มัณฑนา โมรากุล รุจี อุทัยกร สุปาณี พุกสมบุญ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ ซึ่งเมื่อมีนักร้องประจำวงแล้ว ครูเวส ครูเอื้อ และ ครูล้วน ก็ช่วยกันแต่งเพลงให้นักร้องของวงร้องเพิ่มขึ้น
เมื่อเกิดสงครมโลกครั้งที่สองขึ้น การละเล่นต่างๆ ก็พลอยเงียบเหงาไปด้วย เพราะไม่มีภาพยนตร์ใหม่ๆ เข้ามาฉาย จนได้มีโอกาสไปพากย์หนังที่โรงหนังโอเดียน ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นอกเหนือไปจากการเล่นดนตรีที่มีอยู่เป็นประจำแล้ว โดยมี แก้วฟ้า หรือ ครูแก้ว เป็นคนเขียนบทพากย์และควบคุมการซ้อม
ทีมที่พากย์ก็มี ครูเวส ครูเอื้อ มัณฑนา ซึ่งได้รับความสำเร็จและมีชื่อเสียงมากในยุคนั้น
ด้านการประพันธ์เพลง ครูเวส แต่งเพลงที่มีความไพเราะไว้หลายเพลง เช่น หงส์เหิร ทาสรัก ทาสน้ำเงิน คิดไว้ในใจ รักอะไร กำพร้าคู่ ดอกไม้ใกล้มือ ฯลฯ
พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๐๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกดนตรีไทย จนมีโอกาสได้คุ้นเคยกับ ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ปรมาจารย์คนสำคัญด้านดนตรีไทย ซึ่งได้ร่วมกับครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งเพลงในแนว สังคีตสัมพันธ์ ที่ไพเราะไว้หลายต่อหลายเพลง
ครูเวส เกษียณอายุราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ และเลยลาออกจากวงสุนทราภรณ์ด้วยเพราะไปได้งานใหม่ที่บริษัทส่งเสียงตามสาย
จนเมื่อ วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่มีอายุครบ ๒๕ ปี พระองค์ท่านได้รับสั่งถาม และทรงแนะนำให้เล่นดนตรีต่อ จึงหวนคืนเวทีอีกครั้ง
ในระยะที่ทำงานที่บริษัทส่งเสียงตามสาย ได้แต่งเพลงร่วมกับ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูสุรัฐ พุกกะเวส ให้กับห้างแผ่นเสียงและประกอบภาพยนตร์เรื่องต่างๆ และยังคงตระเวนไปเล่นดนตรีกับวงสุนทราภรณ์ รวมทั้งเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จนอายุได้ ๗๕ ปี จึงยุติบทบาทด้านการเล่นดนตรีลง แต่ยังคงแต่งเพลงอยู่เรื่อยมา
ครูเวส ยังคงทำงานด้านการแต่งเพลง จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเรื้อรัง แต่ยังไม่ยอมอยู่เฉย จนล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๕๒๖ คณะศิษยานุศิษย์ของครูเวส ร่วมใจกันจัดงานฉลองวันเกิดครบ ๗ รอบ ให้วันที่ ๕ เมษายน ที่โรงแรมรอแยล ครูเวส ก็มาด่วนจากไป เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ก่อนหน้าวันงานเพียงไม่กี่วัน ฝากไว้แต่คุณงามความดี ผลงานด้านการประพันธ์เพลงและการสอนลูกศิษย์ไว้ในวงการหลายคน เช่น วินัย จุลละบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ ธนิต ผลประเสริฐ เป็นต้น
ผลงานเพลงของครูเวส ที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ เพลงสายลมครวญ เพลงริมฝั่งน้ำ เพลงดอกฟ้าร่วง เพลงหงส์เหิร เพลงสนต้องลม เพลงทาสน้ำเงิน เพลงพรหมลิขิต เพลงเงาอโศก เพลงบุพเพสันนิวาส ฯลฯ


ผู้ส่ง : กังหันลม
 
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ http://dodee.com/suntaraporn

บทความที่ปรากฎที่นี่เป็นบทความที่คนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เป็นผู้เขียนขึ้นหรือคัดหรือตัดตอนมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และส่งมาให้เรา โดยมีเจตนาเพื่อเทิดทูนครูเพลงและบทเพลงสุนทราภรณ์ อีกทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หากท่านพบว่าท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ประสงค์ที่จะให้มีการเผยแพร่บทความของท่านสู่สาธารณะ โปรดแจ้งให้เราทราบโดยด่วนเพื่อที่เราจะทำการนำออกจากเว็บไซด์ในทันทีที่ได้รับแจ้งจากท่าน โดยท่านสามารถแจ้งให้ทางเราทราบโดยส่ง email ไปที่ บรรณาธิการห้องบทความ