หลวงสุขุมนัยประดิษฐ
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ
(ประดิษฐ สุขุม)
ผู้ริเริ่มด้านดนตรีแจ๊สของประเทศไทย
จาก " หนังสือรวมเพลงอมตะ " ของ คุณชาตรี ศิลปสนอง
เกิดที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2447 ปีมะโรง เป็นบุตรคนที่ 7
ของมหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ ท่านผู้หญิงตลับ ( ในตระกูล ณ
ป้อมเพ็ชร ) บิดาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ดำรงตำแหน่ง
สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ประจวบกับเวลานั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้เสด็จไปตรวจราชการ ณ จังหวัดสงขลา ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
จึงได้ทรงประทานชื่อตามคำขอของท่านบิดาว่า ประดิษฐ
อายุได้ 4 ขวบ ท่านผู้หญิงตลับ มารดา ได้จ้างครูมาสอนหนังสือให้ที่บ้านจนอายุได้
7 ขวบ ท่านเจ้าคุณบิดาจึงได้พาไปฝากเข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ( ปัจจุบัน คือ
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย )
เข้าเรียนได้เพียงปีเดียวก็ได้เลื่อนข้ามชั้นไปเรียนชั้นประถมปีที่ 3
เพราะสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ 1 ได้คะแนนยอดเยี่ยม
เรียนอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงถึงชั้นมัธยมปีที่ 4 ก็ลาออกไปศึกษาต่อ ณ
สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นท่านมีอายุ 13 ปี เป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 1
กำลังดำเนินอยู่ มีบุคคลสำคัญที่ร่วมเดินทางไปเที่ยวเดียวกันคือ
สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
จนกระทั่งปี 2465 ก็เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอสตัน ในแขนงบริหารธุรกิจ
สำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2468
และได้เดินทางกลับประเทศไทยประมาณกลางเดือนธันวาคม
ศกเดียวกันและได้เข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเลขานุการสภาการฝิ่น
และเป็นเลขานุการในกรมพระจันทบุรีนฤนาท
นอกจากท่านจะมีพรสวรรค์ในทางด้านกีฬาแล้ว
ท่านยังเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถอีกด้วย เคยหัดดนตรีไทยมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ
กับวงดนตรีของท่านบิดา เช่น พิณพาทย์ จะเข้ และฆ้องวงใหญ่ โดยเฉพาะฆ้องวงใหญ่นั้น
ท่านได้เรียนขึ้นครูจนเล่นเข้าวงได้
เมื่อไปอยู่สหรัฐอเมริกาท่านได้ฝึกหัดเล่นแมนโดสันด้วยตนเอง ต่อมาจึงได้หัดเล่นเทเน่อร์แบนโจ
และเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น เทเน่อร์แซกโซโฟน
สหายนักดนตรีบันลือโลกที่เป็นเพื่อนของท่าน คือ มิสเตอร์เบนนี่ กู๊ดแมน
เมื่อท่านกลับมาเมืองไทย ก็ได้นำดนตรีสากลพร้อมทั้งโน้ตเพลงฝรั่งมาด้วย ต่อมาปี
2477 ท่านจึงได้รวบรวมนักดนตรีสากลตั้งเป็นวงขึ้นไปบรรเลงตามที่ต่างๆ
แต่บรรเลงเป็นประจำที่โฮเต็ลพญาไท ( โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในปัจจุบัน) ที่สปอร์ตคลับ
ผู้เป็นสมาชิกร่วมวงมี ครูนารถ ถาวรบุตร เล่นปิอาโน สารี กล่อมอาภา เล่นกลอง วุฒิ
สุทธิเสถียร สีไวโอลิน เจียม ลิปิชาติ (หลวงชาติตระการโกศล) เล่นแซกโซโฟน ครูจำปา
เล็มสำราญ เป่าทรัมเป็ต เพิ่ม เล่นเบส ส่วนหลวงสุขุมฯ เล่นแบนโจ
โดยบรรเลงเพลงประเภทแจ๊ส ซึ่งมีผู้คนมาฟังกันแน่นขนัด
นับเป็นการบุกเบิกทางด้านดนตรีแจ๊สในประเทศไทย ทั้งยังได้นำจังหวะใหม่ๆ
เข้ามาบรรเลงให้เป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้น
ซึ่งต่อมาวงดนตรีนี้ได้เป็นวงดนตรีของบริษัทไทยฟิล์ม ซึ่งครูเอื้อ และครูเวส
ได้เข้ามาร่วมวงอยู่ด้วย ต่อมาบริษัท ไทยฟิล์ม ได้เลิกกิจการ
เพื่อให้วงดนตรีที่ตั้งขึ้นมาอยู่รวมตัวกันต่อไป หลวงสุขุมฯ
ก็ยังเสียสละทุนทรัพย์โดยการจ่ายเงินเดือนให้ต่อไป
ต่อมาในปี 2482 ทางราชการตั้งกรมโฆษณาการขึ้น ( กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน )
คุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี หลวงสุขุมฯ ได้เป็นกำลังสำคัญ
กระตุ้นให้กรมโฆษณาการตั้งวงดนตรีลีลาศขึ้นได้สำเร็จและชักชวนให้ครูเอื้อ ครูเวส
และ อีกหลายๆ ท่านดำเนินเรื่องย้ายจากกรมศิลปากรมาประจำวงดนตรีลีลาศนี้
โดยครูเอื้อ เป็นหัวหน้าวง
ซึ่งในระยะแรกเริ่มวงดนตรีกรมโฆษณาการยังไม่มีเครื่องดนตรีเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
หลวงสุขุมฯ จึงได้ยกเอาเครื่องดนตรีในวงของท่านไปให้ใช้พลางๆ ก่อน
จนกว่าทางราชการจะจัดหาให้
ต่อมาวงดนตรีได้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาเป็นวงดนตรีสุนทราภรณ์ คุณหลวง
ได้มอบเพลงที่ท่านแต่งไว้ให้แก่วงสุนทราภรณ์นี้ 7 เพลง คือ " เมื่อไหร่จะให้พบ "
, " ชายไว้เชิง " , " รักไม่ลืม " , " ไม่อยากจากเธอ" , " เกาะสวาท " , " คนึงครวญ
" , และ " สิ้นรักสิ้นสุข " เพลง คนึงครวญ เป็นเพลงที่เสริมให้เพ็ญศรี พุ่มชูศรี
โด่งดังไปทั่วประเทศ นับแต่นั้นจนบัดนี้
บทเพลงของท่านถ้าเราสังเกตดูจะพบว่ามีลักษณะพิเศษกว่าบทเพลงทั่วๆ ไป ในขณะนั้น
คือ มีโน้ตครึ่งเสียงใช้มาก ทำให้การขับร้องค่อนข้างยากกว่าบทเพลงทั่วไป
ในบั้นปลายของชีวิตท่าน ท่านล้มเจ็บลงด้วยโรคเบาหวาน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17
พฤษภาคม 2510 จึงนับว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการดนตรีไทยสากล
โดยนับได้ว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มทางด้านดนตรีแจ๊สขึ้นในประเทศ
เป็นเสมือนผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์
ท่านจึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างสูงท่านหนึ่งต่อวงการเพลงเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ส่ง
: กังหันลม |