|
เล็ก โตปาน ชาตะ 21 ตุลาคม 2466 มรณะ 21 ธันวาคม 2528 เกิดวันที่ 21 ตุลาคม 2466 ที่โรงพยาบาลศิริราช บางกอกน้อย ธนบุรี บิดาชื่อ นายพร้อม มารดาชื่อ นางน่วม สำเร็จการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด พระนคร สำหรับทางสายอาชีพเป็นนักศึกษารุ่นแรกของโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ แผนกการเดินรถ กรมรถไฟ หลังจากจบแล้วได้เริ่มประกอบอาชีพหลักด้วยการรับราชการรถไฟในตำแหน่งเสมียนโทรเลข และได้เลื่อนขึ้นเป็นนายสถานีรถไฟหลายแห่ง และประจำแผนก ตำแหน่งสุดท้ายเมื่อเกษียณอายุ เป็นหัวหน้าหมวดโฆษณา กองพาณิชย์โดยสาร ฝ่ายการพาณิชย์ ระหว่างรับราชการที่กรมรถไฟ ได้มีโอกาสนำความรู้ด้านสื่อมวลชนซึ่งเป็นอาชีพรอง และงานบันเทิงซึ่งเป็นงานอดิเรก มาประยุกต์และส่งเสริมการทำงานระหว่างเป็นหัวหน้าหมวดโฆษณา อาชีพรองที่เคยปฏิบัติ คือเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวัน ถนนสี่พระยา และเป็นนักเขียนสารคดีหนังสือพิมพ์เดลิเมล์เบื้องหลังข่าว เล็ก โตปาน ได้เล่าว่าครั้งหนึ่งได้เคยปลอมตัวเป็นผู้ต้องหาลักทรัพย์ เพื่อเข้าห้องขังสถานีตำรวจลุมพินีสัมภาษณ์ผู้ต้องหาฆ่าคนตาย แล้วนำคำสารภาพมาพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ทั้งยังเป็นประโยชน์ด้านการสอบสวนของตำรวจอีกทางหนึ่ง กับอีกครั้งหนึ่งเคยปลอมตัวเป็นเศรษฐีพาหุรัด นำกำลังตำรวจพลับพลาไชย โดย ร.ต.ต.ประสิทธิ์ จันทนะเดช (ยศในขณะนั้น) เข้ารวบตัวผู้ต้องหาหลอกลวงสาวเหนือมาเป็นโสเภณีจนผู้ต้องหาถูกศาลตัดสินจำคุก แม้จะไม่มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดใดเลยก็ตาม แต่เพราะรักการขีดเขียนหนังสือและบทความเป็นประจำ ประกอบกับความรักและสนใจบทเพลงในยุคที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ครองใจประชาชนมาอยู่เป็นเวลานาน จึงฝึกหัดแต่งคำร้องเพลงไทยสากล โดยได้รับความสนับสนุนจาก วิชัย โกกิลกนิษฐ์ ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ นักแต่งคำร้องให้กับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรือสุนทราภรณ์ ผู้ใช้นามปากกาประพันธ์เพลงว่า " ธาตรี " และต่อมาเมื่อครูเอื้อเห็นความสนใจและตั้งใจจริง จึงได้ช่วยแนะนำและสอนให้ ผลงานเพลงแรกที่ประพันธ์คำร้องร่วมกับครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงสำเร็จลง คือเพลง " คืนเพ็ญ " ซึ่งครูเอื้อ ได้มอบให้บุษยา รังสี ขับร้อง หลังจากนั้นก็ได้มีผลงานประพันธ์คำร้องร่วมกับวงสุนทราภรณ์อีก ซึ่งแม้รวมแล้วจะมีจำนวนไม่มากนัก คือประมาณ 10 เพลง แต่หลายบทเพลงก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วไป นักร้องบางคนก็มีชื่อขึ้นมาจากบทเพลงที่ เล็ก โตปาน ประพันธ์คำร้อง ทำให้ชื่อ เล็ก โตปาน เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประพันธ์เพลง นอกจากเพลงแรก คือ " คืนเพ็ญ " ที่ บุษยา รังสี ขับร้องแล้ว เพลงที่นักฟังเพลงรู้จักกันมากอื่นๆ ก็เช่นเพลง " หนองบัว " ซึ่ง บุษยา รังสี ขับร้อง และเป็นเพลงที่ฮิตมากเพลงหนึ่ง เพลง " คืนนั้น " เป็นเพลงที่ส่งให้ อรณี กานต์โกศล โดดเด่นขึ้นมาในหมู่นักร้องหญิงของเมืองไทย เพลง " ศรรัก " ซึ่ง ศรีสุดา รัชตะวรรณ ขับร้องนำหมู่ก้เป็นเพลงที่นักฟังเพลงร้องกันติดปาก ด้วยเนื้อเพลงที่กระจุ๋มกระจิ๋ม และสัมผัสพยัญชนะ แต่ในบรรดาเพลงทั้งหมดที่ประพันธ์เนื้อร้องไว้ เล็ก โตปาน กล่าวว่าที่รักมากที่สุด คือ เพลง " ในโลกกว้าง " ลักษณะการประพันธ์คำร้องของเล็ก โตปาน นั้น ยึดแบบฉบับและเคร่งครัดต่อฉันทลักษณ์ของร้อยกรอง เช่น นักแต่งรุ่นก่อนๆ ของวงสุนทราภรณ์ คือ แก้ว อัจฉริยะกุล, เอิบ ประไพเพลงผสม, สุรัฐ พุกกะเวส, ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และ ธาตรี เล็ก โตปาน ให้ความเห็นว่า การเขียนคำร้องเพลงไทยสากล นอกจากต้องมีเนื้อหาสาระของคำแล้ว ความถูกต้องที่สุด คือ คำสัมผัส เล็ก โตปาน ไม่นิยมใช้คำที่ออกเสียงสั้น นำมาสัมผัสกับคำที่ออกเสียงยาว เช่น ใจ กับ วาย และต้องยึดหลักการบรรจุคำร้องให้เสียงวรรณยุกต์ตรงกันกับเสียงสูงต่ำของทำนอง เพื่อความเหมาะสมกลมกลืน บทเพลงของเล็ก โตปาน จึงมีความสละสลวยในถ้อยคำที่เรียงร้อยไว้ ตลอดจนเนื้อหาสาระของเพลง บทเพลงจึงมีคุณค่าไม่แพ้นักแต่งรุ่นครู รุ่นพี่ แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม เนื่องด้วยปัจจุบันได้มีกลุ่มพ่อค้าที่คิดสั้นเพียงเพื่อหากำไรจากการผลิตแถบเสียงบทเพลงที่ไม่สุภาพ เล็ก โตปาน ให้ความเห็นว่า ทางราชการน่าจะมองเห็นความเสียหายของบทเพลงประเภทนี้ในระยะยาวภายหน้า น่าที่จะมีการตั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องควบคุมการผลิตเพลง เพราะเพลงเป็นสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อมวลชน ควรต้องมีการตรวจสอบ หรือออกใบอนุญาตให้แต่ละเพลงที่ประพันธ์ขึ้นมา ก่อนที่จะให้เผยแพร่ต่อไป มิฉะนั้นผลงานที่ไม่สุภาพหรือก้ำกึ่งต่อการอนาจาร จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากชนรุ่นหลังที่ได้ยินบทเพลงประเภทที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ซึ่งมีการลักลอบวางขายอย่างซ่อนเร้นกันอยู่ หน่วยงานของรัฐตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชาติน่าจะให้ความสนใจการผลิตแถบเสียงของกลุ่มพ่อค้าอย่างเอาใจใส่มากขึ้น เล็ก โตปาน สมรสกับ ปิยะรัตน์ เอี่ยมเสริมศรี และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ กัลยา ความประทับใจในครูเอื้อ สุนทรสนาน และวงดนตรีสุนทราภรณ์อยู่ในความทรงจำของเล็ก โตปาน ไม่เสื่อมคลาย คือ เมื่อครั้งที่ครูเอื้อพร้อมด้วยศรีภริยาและบุตรสาว ได้ยกวงดนตรีสุนทราภรณ์วงใหญ่ไปบรรเลงในงานมงคลสมรส โดยบรรเลงเพลงคู่สมรสนำรายการก่อน แล้วจึงบรรเลงเพลงทุกเพลงที่ เล็ก โตปาน ประพันธ์ให้กับวง จากนั้นจึงขึ้นเพลงสัญลักษณ์ประจำวงสุนทราภรณ์ นับว่าเป็นการให้เกียรติสูงสุดแก่ เล็ก โตปาน ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำอย่างไม่เสื่อมคลาย น้ำใจเล็กๆน้อยๆ ที่ครูเอื้อได้แสดงแก่ผู้ประพันธ์คำร้องคนนี้เป็นที่ประทับใจ และผูกพันความศรัทธาเคารพรักใคร่ไว้อย่างแน่นแฟ้นเสมอมา ด้วยความสนใจใฝ่หาความรู้เสมอ เล็ก โตปาน ได้ศึกษาวิชาพิเศษโดยสมัครรับการอบรมจากโรงเรียนกรมประชาสัมพันธ์ฝ่ายอำนวยการ กรมประชาสัมพันธ์ ในรุ่นที่ 5 สำหรับทางด้านการแสดง เล็ก โตปาน ก็เคยได้ร่วมในละครและภาพยนตร์ โดยไม่สังกัดคณะ แต่ที่ประทับใจมาก คือ น้ำใจไมตรีจากคณะกันตนา ให้รับบทเป็นผู้พิพากษาในละครโทรทัศน์เรื่อง " แม่น้ำ " โดยได้รับค่าแสดงเต็มอัตรา ทั้งที่ไม่มีบทพูดเลยตลอดเรื่อง ในบั้นปลายของชีวิต เล็ก โตปาน ทำงานประจำอยู่กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ดาราไทย ของ สุรัฐ พุกกะเวส และเป็นนักเขียนอิสระ และก่อนหน้างานยกย่องผลงานของ เล็ก โตปาน เพียง 3 สัปดาห์ เล็ก โตปาน ก็ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยสาเหตุหกล้ม แล้วหมดสติ ไม่ฟื้น ในวันที่ 21 ธันวาคม 2528 รวมอายุได้ 62 ปี สมาคมนักแต่งเพลง ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ เล็ก โตปาน เป็นอย่างมาก ในการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของศิลปินผู้นี้ จากหนังสือ วันสุนทราภรณ์ และ 25 ผู้ร่วมผลงาน โดย สมาคมนักแต่งเพลงร่วมกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ผู้ส่ง : กังหันลม |
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ http://dodee.com/suntaraporn |
บทความที่ปรากฎที่นี่เป็นบทความที่คนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เป็นผู้เขียนขึ้นหรือคัดหรือตัดตอนมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และส่งมาให้เรา โดยมีเจตนาเพื่อเทิดทูนครูเพลงและบทเพลงสุนทราภรณ์ อีกทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หากท่านพบว่าท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ประสงค์ที่จะให้มีการเผยแพร่บทความของท่านสู่สาธารณะ โปรดแจ้งให้เราทราบโดยด่วนเพื่อที่เราจะทำการนำออกจากเว็บไซด์ในทันทีที่ได้รับแจ้งจากท่าน โดยท่านสามารถแจ้งให้ทางเราทราบโดยส่ง email ไปที่ บรรณาธิการห้องบทความ |