ม.ล.ขาบ กุญชร

พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร
โดย วราห์ วรเวช เรียบเรียงจาก
1. การสัมภาษณ์ พ.ต.อ.(พิเศษ) วรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา
2. บทความ ที่มาของการดัดแปลงดนตรีไทย โดย พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร
3. ประวัติวงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ โดย ใหญ่ นภายน

พลโท ม.ล.ขาบ กุญชร เป็นบุตรของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มารดาชื่อ จัน เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ได้รับการศึกษาในโรงเรียนทหารตั้งแต่เด็ก และต่อมาก็ได้ไปเรียนวิชาทหารที่โรงเรียนทหารปืนใหญ่ (โรงเรียนวูลริช) ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยแซนเฮิร์ท ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาก็มารับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ ต่อมาก็ได้เป็นทูตทหารที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งเกิดสงคราม ท่านซึ่งพำนักอยู่ในอเมริกาก็ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยซึ่งก่อตั้งขึ้น และได้ถูกส่งมาประจำการเป็นผู้บัญชาการหน่วยเสรีไทยที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน โดยได้ร่วมประสานงานกับกองทัพจียคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) และหน่วยโอเอสเอส ของสหรัฐ ซึ่งเป็นรากฐานของหน่วย ซี.ไอ.เอ ในปัจจุบัน ท่านได้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการประสานงานกับหน่วยเสรีไทยที่ได้กลับเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านก็ได้กลับเข้ามารับราชการในกระทรวงกลาโหม ต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้แต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง และในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และเป็นรองเสนาธิการกลาโหม ท่านได้ลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2502 เมื่ออายุได้ 54 ปี หลังจากนั้นท่านได้ตั้งคณะละครขึ้นชื่อ คณะพลายมงคล ออกแสดงทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ท่านก็ได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมิใช่น้อย
ม.ล.ขาบ กุญชร เป็นศิลปินนักแสดงโดยแท้ นับแต่วัยหนุ่ม ระหว่างรับราชการอยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ท่านก็เคยได้แสดงเป็นพระเอกภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เมื่อปี 2477 ในภาพยนตร์เรื่อง เลือดทหารไทย และในภาพยนตร์เรื่องนี้ท่านได้ดีดเปียโน ขับร้องเพลง "กุหลาบในมือเธอ" บทประพันธ์โดย เรือโทมานิต เสนะวีณิน ร.น. และ ขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งบทเพลงนี้ยังเป็นที่นิยมขับร้องกันทั่วไปในปัจจุบัน
ในด้านการแต่งเพลงไทยสากลนั้น ท่านเคยมีผลงานทำนองให้กับวงสุนทราภรณ์ไว้หลายเพลง การแต่งทำนองของท่านมีความบันดาลใจด้วยอารมณ์ศิลปินที่แปลกกว่าของผู้อื่น ซึ่ง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ได้เขียนไว้ในบทความในหนังสือ เบื้องหลังเพลงดัง จัดพิมพ์โดยสมาคมแต่งเพลงว่า "ศิลปินนี่เป็นบุคคลพิเศษนะคะ ท่านพลโท ม.ล.ขาบ กุญชร ท่านเป็นิธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นค่ะ โมโหหัวใจหน่อยเดียว กลับมาดีดเปียโนได้ตั้ง 4 เพลง แน่ะ มี ข้องจิต, คิดไม่ถึง, คะนึงฝัน และพรั่นรัก" เพลงข้องจิตนี้เป็นเพลงที่ดังมากที่สุดเพลงหนึ่งในยุคนั้น แต่น้อยคนจะทราบว่าเป็นผลงานของท่าน เพราะท่านใช้นามแฝงการประพันธ์เพลงว่า อ.ป.ส. ซึ่งย่อมาจาก อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
พลโท ม.ล.ขาบ ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือที่ระลึก 20 ปี ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการดนตรีกับวงสุนทราภรณ์ไว้ดังนี้ "ข้าพเจ้าเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2495 ขณะนั้นวงดนตรีสุนทราภรณ์ "ดัง" แล้วเป็น "เด่น" เสียด้วย เพลงของคุณเอื้อ สุนทรสนาน ก็มีเพลงไทยสากลเป็นพื้น ต่อเมื่อข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งแล้ว จึงได้จดจำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในรัชกาลที่ 7 ฝังใจอยู่เสมอว่า ดนตรีไทยกับดนตรีสากลควรจะเล่นรวมกันได้ โดยมีการดัดแปลงเสียงของดนตรีไทยเสียบ้างให้เข้ากับบันไดเสียงของดนตรีสากลบางบันได คิดได้เช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้ากับคุณเอื้อ สุนทรสนาน กับคุณคงศักดิ์ คำศิริ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกดนตรีไทยในขณะนั้น จึงได้มาปรึกษากันและเทียบเสียงของระนาดและฆ้องให้เข้ากับระดับเสียงของเปียโน ในระดับบีเมเจอร์ แปลงเล็กน้อย และได้เริ่มทำเพลงแรกด้วยเพลง ลาวกระแต แล้วต่อมาก้ได้ทำกันอีกหลายต่อหลายเพลง ใช่แต่เท่านั้น เรายังได้คิดประดิษฐ์อังกะลุงสากลขึ้นเป็นวงแรกในประเทศไทยด้วย แล้วต่อมาภายหลังเราจึงได้ดัดแปลงเอาทำนองของเพลงไทยแท้ๆ มาเป็นเพลงไทยสากล โดยเอาทำนองเพลงมาทำเสียงประสานเข้า แล้วใส่เนื้อเดิมเป็นเพลงไทยสากล ก็ยิ่งเป็นเรื่อง "ดัง" ของวงสุนทราภรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก"
เพลงในแนวผสม ระหว่างดนตรีไทยสากลและไทยเดิมเช่นนี้ เรียกกันต่อมาว่า สังคีตประยุกต์ วงอังกะลุงที่ท่านคิดให้นำมาร่วมบรรเลงกับวงสากล ตัวอย่างเพลง คือ สนต้องลม ผู้ที่ให้ความร่วมมือจัดทำกันอย่างใกล้ชิดในครั้งนั้น มีครูเอื้อ สุนทรสนาน, ครูเวส สุนทรจามร, คงศักดิ์ คำศิริ และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ บรมครูเพลงไทย ผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่วงดนตรีไทย งานบันเทิงกรมประชาสัมพันธ์ไว้เป็นจำนวนมาก
รายการเพลงผสมนี้ได้รับทั้งการติชมเป็นอย่างมาก ในจำนวนที่ติ ก็หาว่านำเพลงไทยเดิมของเก่ามาทำลายเสียคุณค่าทางวัฒนธรรมประจำชาติหมด ในจำนวนพวกที่ชอบบอกว่าดี ทำให้เข้าใจเพลงไทยเดิมของเรามาก สามารถร้องทำนองเปล่าๆ ได้อย่างคล่องปากโดยที่ไม่เคยหัดร้องเพลงไทยเดิมมาเลย ครั้นเวลาผ่านไป เพลงผสมเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่า มิได้เป็นการทำลายศิลปวัฒนธรรม แต่กลายเป็นการสนับสนุนศิลปเพลงไทยอย่างมากมาย และได้มีนักประพันธ์ผู้อื่นได้นำแนวทางสังคีตประยุกต์ไปใช้ และนำทำนองเพลงไทยเดิมออกมาเผยแพร่ในรูปเพลงไทยสากล ตามมาอีกจำนวนมาก ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวศิลปินโดยแท้ ท่านให้กำเนิดทายาทหลายคนที่มีชื่อเสียง บ้างทางด้านการขับร้อง และบ้างก็ทางด้านนาฏศิลป์





ผู้ส่ง : กังหันลม

 
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ http://dodee.com/suntaraporn

บทความที่ปรากฎที่นี่เป็นบทความที่คนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เป็นผู้เขียนขึ้นหรือคัดหรือตัดตอนมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และส่งมาให้เรา โดยมีเจตนาเพื่อเทิดทูนครูเพลงและบทเพลงสุนทราภรณ์ อีกทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หากท่านพบว่าท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ประสงค์ที่จะให้มีการเผยแพร่บทความของท่านสู่สาธารณะ โปรดแจ้งให้เราทราบโดยด่วนเพื่อที่เราจะทำการนำออกจากเว็บไซด์ในทันทีที่ได้รับแจ้งจากท่าน โดยท่านสามารถแจ้งให้ทางเราทราบโดยส่ง email ไปที่ บรรณาธิการห้องบทความ