คีติ คีตากร
BILLY FLORES

นายคีติ คีตากร เป็นชาวฟิลิปปินส์โดยกำเนิด ชื่อเดิมคือ Melanio Flores เรียกสั้นๆ ว่า Milly เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2451 บิดาชื่อ Celestino Sagurio มารดาชื่อ Crispina Flores (Melanio ใช้นามสกุลแม่) บ้านเกิดอยู่ที่ Negros เกาะ Mindanao ประเทศฟิลิปปินส์ มีพี่น้อง 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน Melanio เป็นบุตรคนโต
การศึกษา ได้เข้าเรียนที่ Public School ของรัฐบาล เป็นโรงเรียนภาคบังคับให้เด็กทุกคนศึกษาเล่าเรียน ได้เรียนถึง Grade 5 ผลการเรียนไม่ดีเพราะไม่เอาใจใส่ ชอบเรียนดนตรีมากกว่า Melanio เรียนดนตรีไปพร้อมกับเรียนหนังสือโดยไปสมัครเรียนดนตรีที่โบสถ์ Sillimon Institute เริ่มเรียนไวโอลินก่อน แต่ไม่ชอบจึงเรียนแบนโจ (Banjo) เมื่อสอบตกก็ถูกส่งไปอยู่บ้านน้าที่เมือง Cebu เรียนไปได้ 1 ปี จึงสมัครทำงานที่คาบาเรต์ เรียนหนังสือกลางวัน ทำงานตอนกลางคืน ได้ค่าจ้างวันละ 2.50 เปโซ นับว่ารายได้ดีมาก

ชีวิตการทำงาน
จากการที่ไปเล่นดนตรีที่ คาบาเรต์ (Cabaret) Melanio เล่นแบนโจได้ไพเราะจับใจคนฟังยิ่งนัก เมื่อผู้จัดการชาวฮอลันดา แห่ง Yatch Club ซึ่งอยู่เมือง Celebet เกาะ Magasar ชวา ได้ไปเที่ยวที่คาบาเรต์แห่งนั้น ถูกใจจึงติดต่อให้ไปเล่นดนตรีที่ Yatch Club โดยให้ค่าจ้างสูงมากถึง 400 เปโซต่อเดือน ไม่รวมค่าที่พัก Melanio ตัดสินใจที่จะไปทำงานที่ชวาโดยไม่ฟังคำทัดทานจากบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เขาได้ใช้ชื่อในการแสดงว่า " Billy "
Melanio เดินทางจากประเทศฟิลิปปินส์ เมื่ออายุ 17 ปี และไม่เคยกลับไปประเทศบ้านเกิดเมืองนอนจนตลอดชีวิต ดังมีลำดับการเดินทางดังนี้
อายุ 17 ปี เดินทางไปทำงานที่เกาะ Magasar ชวา 1 ปี
อายุ 18 ปี ไปทำงานที่เมือง Columbo ประเทศศรีลังกา ( Celon ) 6 เดือน
อายุ 19-20 ปี ไปทำงานที่ Yatch Club เมืองบอมเบย์ ( Bombay ) 6 เดือน ประเทศอินเดีย 1 ปี
อายุ 20-23 ปี ไปทำงานที่ Japanese Tea Garden สิงคโปร์ ( Singapore ) 3 ปี
อายุ 24-29 ปี เดินทางเข้าทำงานในประเทศสยาม ( Siam ) มากับวงดนตรีชาวฟิลิปปินส์ เล่นที่สวนสนุกลุมพินี Blue Hall of Ball Room 6 ปี
อายุ 29 ปี ไปทำงานที่ ฮ่องกง มาเก๊า เซียงไฮ้
อายุ 30 ปี เดินทางกลับมาประเทศสยามอีก ระหว่างเดินทางทางเรือได้พบหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ท่านผู้นี้เป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งต่อนายมีลานีโอหรือบิลลี่ ท่านชวนให้ไปทำงานที่บริษัทภาพยนตร์ไทย หรือเป็นที่นิยมเรียกกันติดปากว่าไทยฟิล์ม เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ของพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล และมิตรสนิทของท่านซึ่งได้แก่ นายพจน์ สารสิน , นายประสาท สุขุม , นายชาญ บุนนาค และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นหุ้นส่วนใหญ่อยู่ด้วย
ในสมัยนั้นบริษัทสร้างภาพยนตร์จำเป็นที่จะต้องมีวงดนตรีมาเล่นเพื่ออัดเสียงเข้ากับภาพยนตร์ แต่ขณะนั้นมีคนไทยผู้สนใจเล่นดนตรีสากลน้อย วงดนตรีมีไม่กี่วง และมีงานประจำมัดตัวอยู่ การเล่นอัดเสียงให้เข้ากับภาพยนตร์ต้องใช้เวลาหลายวันจึงสำเร็จ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ได้เสนอให้บริษัทตั้งวงดนตรี เมื่อหุ้นส่วนเห็นชอบ ท่านก็ได้รวบรวมนักดนตรี ให้ตั้งวงดนตรีขึ้นโดยมี คุณเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง ในวงดนตรีประกอบด้วย
เอื้อ สุนทรสนาน เป็นนายวง และเล่นอัลโต้แซกโซโฟน
สังเวียน (ซีเลียว) แก้วทิพย์ เล่นอัลโต้แซกโซโฟน / คลาริเนท
สมบูรณ์ ดวงสวัสดิ์ เล่นเทเนอร์แซกโซโฟน
สริ ยงยุทธ เล่นเปียโน
เวส สุนทรจามร เล่นทรัมเป็ต
จำปา เล้มสำราญ เล่นทรัมเป็ต
ภิญโญ (โจ) สุนทรวาท เล่มทรัมโบน
บิลลี่ ฟลอเรส เล่นกีตาร์
สาลี่ กล่อมอาภา เล่นกลอง
สมบูรณ์ ศิริภาค เล่นเบส
สมพงษ์ ทิพย์กลิ่น เล่นไวโอลิน
ทองอยู่ ปิยะสกุล เล่นไวโอลิน

ชื่อ บิลลี่ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลในวงการนี้ เมื่อบริษัทภาพยนตร์ไทยซึ่งเป็นที่นิยมเรียกกันติดปากว่าไทยฟิล์มยุบตัว เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (อุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะฟิล์มซึ่งต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศขาดตลาด) วงดนตรีไทยฟิล์มต้องยุบตัวตาม แต่บังเอิญในขณะนั้นคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์มีมิตรรักคือคุณวิลาศ โอสถานนท์ ท่านผู้นี้เป็นอธิบดีกรมโฆษณาการมีความสนใจในเรื่องดนตรีและต้องการที่จะให้กรมมีวงดนตรีประจำ คุณหลวงจึงให้นายเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งวงดนตรีใหม่รวบรวมนักดนตรีเดิมไปประจำที่กรมโฆษณาการ บิลลี่จึงเข้าทำงานรับราชการที่กรมโฆษณาการตั้งแต่นั้นมา จากบัตรประจำตัวข้าราชการเมื่อปี พ.ศ.2484 ใช้ชื่อไทยว่า "นายมะลิ" สันนิษฐานว่าคงแปลงมาจากคำว่า "Milly" ต่อมาได้รับความกรุณาจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นตั้งนามสกุลใหม่ว่า "คีตากร" นับว่าชีวิตของ บิลลี่ เริ่มปักหลักที่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้โอนสัญชาติเป็นไทย ตำแหน่งที่รับราชการ คือ นักดนตรีตรี

พ.ศ.2491 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "คีติ"
พ.ศ.2492 (วันที่ 19 ธันวาคม) ได้ดำเนินเรื่องขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย
พ.ศ.2505 (วันที่ 22 สิงหาคม) ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็นทางการ
พ.ศ.2506 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ศิลปินโท ประจำกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ.2511 เกษียณอายุราชการ เป็นข้าราชการบำนาญ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

ผลงาน
นายคีติ คีตากร (บิลลี่ หรือ มีลานีโอ ฟลอเรส) เป็นนักดนตรีเครื่องสาย ได้แก่ กีตาร์ แบนโจ มือเยี่ยม นอกจากนี้ยังเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่เรียบเรียงเสียงประสาน (Arrange) เพลงไทยสากล ผู้เรียบเรียงเสียงประสานนับว่าเป็นนักแต่งเพลงด้วย เพราะเป็นผู้ที่จะทำให้เพลงที่แต่งขึ้นสมบูรณ์ด้วยจินตนาการของผู้เรียบเรียงที่กำหนดโน้ตดนตรีให้กับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นในวงอันได้แก่ โน้ตสำหรับเปียโน ทรัมเป็ต แซกโซโฟน กีตาร์ กลอง เบส ไวโอลิน ทรัมโบน ให้เล่นสอดประสานรับกันให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งน่าฟัง นายคีติหรือบิลลี่ จะเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงทำนองเป็นฝรั่ง จึงเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้นว่าเป็นนักเรียบเรียงที่มีความสามารถสูง ได้รับความไว้วางใจให้เรียบเรียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานให้กับเพลงต่างๆ ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเรียบเรียงเสียงประสานให้กับเพลงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ไสล ไกรเลิศ แก้ว อัจฉริยะกุล เป็นต้น
นอกจากรับราชการแล้ว นายคีติ คีตากร ยังสอนวิชาดนตรีสากลแก่ผู้สนใจ ในตอนกลางคืนก็เล่นดนตรีเป็นหัวหน้าวงดนตรีของตนเองกับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์และชาวต่างชาติอื่นในไนท์คลับต่างๆ เป็นประจำ หลังเกษียณอายุราชการแล้ว นายคีติก็ยังรับทำงานเรียบเรียงเสียงประสานต่อ และได้ไปทำงานต่างจังหวัดมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ได้ทำงานที่พัทยาบ้าง นครสวรรค์บ้าง และยังคงเล่นดนตรีกับวงดนตรีสุนทราภรณ์จนอายุ 75 ปี จึงยุติชีวิตการทำงาน

ชีวิตบั้นปลาย
นายคีติ คีตากร มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง แต่เป็นผู้ที่รักษาสุขภาพเป็นเยี่ยม จึงมีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงความจำแม่นยำ ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่กับลูกและเริ่มท่องเที่ยวไปต่างประเทศกับลูกๆ จนวาระสุดท้ายได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 รวมสิริอายุ 83 ปี 11 เดือน

บางตอนเก็บความจาก
1. เอื้อ สุนทรสนาน 5 รอบ ธนบุรี : ป.พิศนาคะ , 2514
2. อนุสรณ์ ในการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ นายเอื้อ สุนทรสนาน ต.จ.ว.จ.ช.
ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 22 สิงหาคม 2525 กรุงเทพฯ : ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2525
3. สุนทราภรณ์ ครึ่งศตวรรษ : ที่ระลึกการก่อตั้งสุนทราภรณ์ครบรอบ 50 ปี
20 พฤศจิกายน 2532 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เพื่อนชีวิต , 2532

จากหนังสือประวัติและผลงาน คีติ คีตากร (BILLY FLORES) นักกีตาร์มือไฟ





ผู้ส่ง : เทพกร บวรศิลป์

 
บ้านคนรักสุนทราภรณ์ www.websuntaraporn.com

บทความที่ปรากฎที่นี่เป็นบทความที่คนรักบทเพลงสุนทราภรณ์ เป็นผู้เขียนขึ้นหรือคัดหรือตัดตอนมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และส่งมาให้เรา โดยมีเจตนาเพื่อเทิดทูนครูเพลงและบทเพลงสุนทราภรณ์ อีกทั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หากท่านพบว่าท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ประสงค์ที่จะให้มีการเผยแพร่บทความของท่านสู่สาธารณะ โปรดแจ้งให้เราทราบโดยด่วนเพื่อที่เราจะทำการนำออกจากเว็บไซด์ในทันทีที่ได้รับแจ้งจากท่าน โดยท่านสามารถแจ้งให้ทางเราทราบโดยส่ง email ไปที่ บรรณาธิการห้องบทความ